“องค์กรของผู้บริโภค” บุกสภาฯยื่น กมธ. ปราบโกง สภาฯสอบมติกสทช.ควบรวม “ทรู-ดีแทค” มีอำนาจหรือไม่ ส่อขัดกม.อาญามาตรา 157 ด้าน “เสรีพิศุทธ์” ข้องใจกระบวนการเร่งรีบ เข้าข่ายมีผลปย.ทับซ้อนหรือไม่
วันที่ 26 ต.ค.65 ที่รัฐสภา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร(กมธ.ป.ป.ช.) รับยื่นหนังสือร้องเรียนจาก น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจยเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติต่อการควบรวมกิจการของทรู กับ ดีแทค เนื่องจากมติ 2 เสียงรับทราบการควบรวมโดยไม่ขออนุญาต 2 เสียงคัดค้าน และอีก 1 เสียงงดออกเสียง นั้นส่อขัดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
โดย น.ส.สารี กล่าวว่า ตามประกาศ กสทช. หากจะมีการเข้าร่วมต้องใช้ประกาศปี 2561 ที่กำหนดไว้ว่า หากเป็นกิจการประเภทเดียวกัน ต้องปฏิบัติตามข้อ 8 ของประกาศ ปี 2549 ซึ่งหมายความว่า กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตในการให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวม แต่ กสทช. ทำหน้าที่เพียงการรับทราบ” โดยเฉพาะมีกรรมการหนึ่งคนงดออกเสียง ทำให้สภาองค์กรผู้บริโภคเห็นว่าน่าจะ เข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ
“เมื่อติดตามข้อเท็จจริงยังพบว่า กทสช. ดำเนินการไม่ครบถ้วน ตามกระบวนการของกฎหมาย เช่นการไม่รับฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวกับมาตรการหลังจากการรับทราบการควบรวมว่ามีการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค และอาจทำให้ไม่เกิดการลงทุนในพื้นที่ห่างไกล ทำให้คนจนพื้นที่ชายขอบจะเข้าไม่ถึงบริการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ขณะที่มาตรการที่ออกมาไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค” น.ส.สารี กล่าว
ด้านพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า ตามกฏหมายคณะกรรมการที่พิจารณาจะต้องมี 7 คน ทำไมในการลงมติจึงมีเพียง 5 คน ไม่รอกระบวนการคัดเลือกกรรมการให้ครบก่อนจึงพิจารณาวาระเรื่องการควบรวมทรู-ดีแทค โดยสงสัยว่าเหตุใดกระบวนการจึงเร่งรีบผิดสังเกต อาจเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนใดหรือไม่ เพราะหากไม่มีคงไม่รีบดำเนินการแบบนี้ และเห็นใจประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการดังกล่าว