ทอท. แจ้งงดปล่อยโคมลอยในเขตรอบสนามบินช่วงลอยกระทง ฝ่าฝืนโทษปรับสูงสุด 8 แสนบาทตามพ.ร.บ.เดินอากาศ เผย 7-9 พ.ย. เชียงใหม่,เชียงราย กระทบรวม 87เที่ยวบิน แอร์ไลน์ขอปรับเวลา /ยกเลิก ลดความเสี่ยง
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ขอความร่วมมือประชาชนงดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยโคมลอย โคมควัน ดอกไม้ไฟ แสงเลเซอร์ อากาศยานไร้คนขับ (Drone) หรือวัตถุอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่ออากาศยานในเขตโดยรอบสนามบินทั้ง 6 แห่งช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2565 เพื่อมิให้เกิดอันตรายต่ออากาศยาน ผู้โดยสาร และประชาชน
เนื่องจากในช่วงเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2565 คือระหว่างวันที่ 8 – 9 พฤศจิกายน 2565 ในบางพื้นที่มักจะมีการจัดกิจกรรมปล่อยโคมลอย โคมควัน โดยในส่วนของ AOT ซึ่งบริหารสนามบินหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปล่อยวัตถุอันตรายขึ้นสู่ท้องฟ้า เช่น การปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน พลุ ตะไล บั้งไฟ ดอกไม้ไฟ ลูกโป่ง การปล่อยแสงเลเซอร์ และอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) ที่อาจเป็นอันตรายต่ออากาศยาน และการมองเห็นของนักบิน โดยเฉพาะในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ (บริเวณสนามบินและโดยรอบสนามบิน)
ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 มาตรา 59/1 และ 59/2 โดยระบุการกำหนดโทษคือ
มาตรา 59 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 109/1 มาตรา 109/2 และมาตรา 109/3 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497
มาตรา 109/1 ผู้ใดจุดและปล่อยหรือกระทำการใดเพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือ วัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศซึ่งเป็นการรบกวนหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อการเดินอากาศหรือปฏิบัติการของอากาศยานภายในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 59/1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 109/2 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 59/2 หรือประกาศที่ผู้อำนวยการประกาศตามมาตรา 59/2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 120,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 109/3 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศตามมาตรา 59/3 วรรคหนึ่งหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 59/3 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รวมทั้ง พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2558 มาตรา 18 (2) ได้ระบุว่า ผู้ใดกระทำการให้อากาศยานในระหว่างบริการเสียหาย จนเป็นเหตุให้อากาศยานนั้นไม่สามารถทำการบินได้หรือเป็นเหตุหรือน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานในระหว่างบิน ต้องระวางโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 800,000 บาท