‘วิษณุ’แจงปมแต่งตั้งเลขาปปง. เตรียมเอาผิดคนสร้างสถานการณ์ป้ายสีรับสูทผ้าไหม ลั่นจ่ายค่าตัดเองทุกครั้ง เมียซื้อผ้าไหมไว้ให้
เมื่อวนี่16 ก.พ.66ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษ ซึ่งมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า ตามที่มีส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายเรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 5 คน ตั้งแต่ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล, พล.ต.ท.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร, พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์, พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง จนมาถึงนายเทพสุ บวรโชติดารา ว่ามีความผิดพลาด ไม่ถูกต้อง หรือทุจริตนั้น ตนขอชี้แจงว่าการแต่งตั้งเลขาธิการปปง.มีความแตกต่างจากตำแหน่งอื่น โดยเริ่มต้นจากการเสนอชื่อบุคคลเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และเมื่อผ่านครม.แล้ว ต้องนำชื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา ก่อนจะเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.อีกครั้ง โดยตำแหน่งเลขาธิการปปง.เป็นตำแหน่งพิเศษที่จะต้องส่งชื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบประวัติบุคคลดังกล่าว และเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้ว ต้องส่งเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่วุฒิสภาให้พิจารณาว่าเห็นชอบให้แต่งตั้งบุคคลนั้นเป็นเลขาธิการปปง.หรือไม่ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่ได้มีลับลมคมในอะไร
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า กรณีที่มีส.ส.ตั้งคำถามว่าทำไมจึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้งพล.ต.อ.ชัยยะเป็นเลขาธิการปปง.นั้น ขอชี้แจงเป็นเพราะขณะนั้นกฎหมายปปง. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเพิ่งออกมาใหม่ จึงยังไม่กำหนดวิธีการสรรหาเอาไว้ หัวหน้าคสช.จึงใช้อำนาจตาม มาตรา 44 แต่งตั้ง พล.ต.อ.ชัยยะเป็นเลขาธิการ ปปง. ขณะที่การแต่งตั้งพล.ต.อ.ปิยะพันธ์ จากตำแหน่งรองเลขาธิการฯ ให้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการฯ ก็ผ่านการตรวจสอบของวุฒิสภาแล้ว ซึ่งใรตอนนั้นยังไม่ปรากฏข้อมูลว่าไปพัวพันนายตู้ห่าวหรือกลุ่มทุนจีนสีเทา อย่างไรก็ตาม เมื่อตำแหน่งนี้ว่างลง ได้มีการเสนอให้นายเทพสุเป็นเลขาธิการปปง. ซึ่งวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบ ทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอนและกฎหมาย ส่วนที่จะมีการพัวพันความผิดอะไรนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
นายวิษณุ กล่าวว่า นอกจากนี้ กรณีที่มีส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายเมื่อคืนวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา กล่าวหาตนในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้กำกับดูแลคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ว่ามีพฤติกรรมเรียกรับประโยชน์โดยมิชอบ คือเสื้อสูทชุดไทยพระราชทาน แลกกับการไปทำหน้าที่เปิดประชุมในวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ท.นั้น ตนได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลป.ป.ท.จริง และในอดีต เมื่อถึงวันสถาปนาของป.ป.ท. ในเดือน ม.ค.ของแต่ละปี ได้มีการทำพิธี มีการมอบโล่รางวัลและการกล่าวปราศรัยเนื่องในวันสถาปนาจริง แต่เนื่องจาก ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้สำนักงานป.ป.ท.งดจัดงานดังกล่าว และตนไม่ได้โผล่ไปที่สำนักงานนั้น แม้กระทั่งวันคล้ายวันสถาปนาป.ป.ท.เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2566 ตนไม่ได้เดินทางไปด้วยตัวเอง แต่ได้บันทึกเทปคำกล่าวอวยพรเพื่อให้เขาเอาไปเปิดในงาน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีพฤติการณ์ไปกระทำอะไรเพื่อแลกกับของขวัญหรือของชำร่วย ไม่ว่าจะเป็นสูท เสื้อชุดไทยพระราชทาน หน่วยงานนี้ไม่เคยมอบสิ่งของพวกนั้นให้ตน
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า จากการที่ตนไปปฏิบัติราชการที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือน ก.ย.2565 แล้วล้มป่วยที่นั่นกะทันหัน ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไต จนต้องส่งตนกลับมาผ่าตัดที่ประเทศไทย ซึ่งทำให้ตนต้องนอนฟอกไตทุกคืนมาเป็นนาน 5 เดือนเศษจนถึงตอนนี้ จากการที่ตนได้มีการผ่าตัดร้อยสายที่หน้าท้อง ทำให้ต้องใส่เสื้อที่ปล่อยชายด้านนอก ตนจึงเลือกใส่เสื้อไทยพระราชทาน ภรรยาของตนจึงได้ซื้อผ้าไหมมากมายหลายผืนเพื่อให้ตนนำไปตัดเสื้อชุดไทยสีต่างๆ ดังนั้น ตนได้นำผ้าดังกล่าวมาให้เจ้าหน้าที่นำไปหาร้านเพื่อตัดชุดให้ตน ซึ่งในที่สุดได้นำไปตัดที่ร้านหนึ่ง โดยตนจ่ายค่าตัดเสื้อดังกล่าวทุกครั้ง ไม่เคยมีใครจ่ายแทนตน โดยค่าตัดชุดตัวละ 2,000 – 2,500 บาท
“ผมไม่เคยได้รับสูท หรือชุดไทยฟรี นอกจากการได้รับจากผ่านการประชุมครม.สัญจร ที่ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด จะตัดให้ครม. ทั้งคณะ ถ้าจะเรียกจะรับผลประโยชน์อะไร คงไม่ใช่ชุดไทยพระราชทานหรอก จะเป็นแหวน นาฬิกา สร้อย ดูจะเข้าท่ากว่า และคุ้มกับชื่อเสียงเกียรติยศ เมื่อเช้านี้ (16 ก.พ.) เจ้าหน้าที่ที่ร้านเล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีชายไทย 2 คน เอาผ้าไปให้ที่ร้านตัด ราคา 2,500-3,000 บาท แต่ขอให้ออกใบเสร็จตัวละ 5,000 บาท เพื่อจะได้ส่วนต่างจากเจ้านาย และบอกที่ร้านว่า เจ้านายนั้น ชื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ดังนั้นต้องสืบเสาะกัน ส่วนผมจะดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป”นายวิษณุ กล่าว