“พิพัฒน์” เผยท่องเที่ยวเรือสำราญต่างชาตินิยมเดินทางเงินใช้จ่ายสะพัด 4,840 ล้านบาทต่อปี วางแผนให้ททท.เจรจาเทียบท่าในไทย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญนับเป็นหนึ่งในรูปแบบของการเดินทางท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในระดับโลก ทั้งแนวโน้มและอัตราการเติบโตในภาพรวมทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการบริษัทเครือสำราญมีแนวโน้มที่จะนำเรือสำราญมาให้บริการในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น อาทิ Royal Carribbean และ Star Cruise
รวมถึงตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปก็ให้ความสนใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวโดยเรือสำราญในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งความนิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย และกระแสความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน และนักท่องเที่ยวอาเซียนล้วนส่งผลให้อุตสาหกรรมได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมรายได้อุตสาหกรรมจากเรือสำราญในปี 2562 ก่อนเกิดโควิดระบาด มีจำนวน 550 calls บรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 2,200 คน เกิดการใช้จ่ายเฉลี่ย 4,000 บาทต่อคนต่อวัน (ไม่รวมค่าที่พัก) รวมสร้างรายได้เฉลี่ยกว่า 4,840 ล้านบาทต่อปี
สำหรับโครงการท่าเรือสำราญ Cruise เกาะสมุย หากประเมินจากพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเรือสำราญนิยมเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงมีนาคมของทุกปี ซึ่งเรือสำราญแต่ละวันจะมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 1,800-2,400 คนต่อลำ
แต่จะเดินทางท่องเที่ยวมายังประเทศไทยในลักษณะของ One Day Trip โดยไม่พักค้างคืน ขณะที่อัตราการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวเรือสำราญจะสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 4-10 เท่า ทั้งในเรื่องของกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล อาหารไทย สปา การแสดงทางวัฒนธรรม รวมถึงการใช้จ่ายของฝากของขวัญและของที่ระลึก ในช่วงปี 2562 มีเรือสำราญเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านท่าเรือภูเก็ต แหลมฉบัง และคลองเตย ทั้งรูปแบบการจอดทอดสมอที่กระบี่ และสมุย รวมทั้งหมด 550 calls แบ่งเป็นมาเพื่อแวะพัก 470 calls ในขณะที่ค้างคืน 80 calls
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ศักยภาพด้านซัพพลายของการท่องเที่ยวทั้งในมิติแหล่งท่องเที่ยว สถานประกอบการ บุคลากรของประเทศไทย มีความพร้อมสูงมาก โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต ขณะที่ศักยภาพด้านคมนาคมขนส่งทางทะเล โดยเฉพาะท่าเทียบเรือ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนให้เกิดดีมานด์ทางการตลาด อาจต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม โดยความท้าทายด้านกฎระเบียบ ข้อบังคับในการส่งเสริมการเดินทาง ทั้งการขออนุญาตเรือ และการอนุญาตการเดินทางเข้าด่านทะเลของนักท่องเที่ยว รวมถึงการอนุญาตให้ชื้อขาย หรือจำหน่ายสินค้าบางประการ อาทิ น้ำมัน น้ำเปล่า ข้าวสาร น้ำตาล อาจต้องได้รับการส่งเสริมโดยการผ่อนปรนระเบียบบางประการให้เกิดการค้าขายมากขึ้น
“การตลาดและการส่งเสริมการตลาดเรือสำราญ กระทรวง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดกับบริษัทเรือสำราญ อาทิ การร่วมงานส่งเสริมการขาย งาน SEATRADE ที่อเมริกา หรือการทำ AGENT FAM TRIP ร่วมกับ SINGAPORE TOURISM BOARD โดยกระทรวงคาดว่า เมื่อประเทศไทยมีการพัฒนา หรือยกระดับท่าเรือสำหรับการท่องเที่ยว อัตราการเดินทางเข้าของเรือสำราญ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยว และอัตราการพักค้างคืน ก็จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 3 ปี อย่างน้อย 2-3 เท่า เทียบจากปี 2562 ก่อนเกิดโควิด”