องคมนตรี ร่วมประชุม บกปภ.ช.เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากพายุ “โนอึล” พร้อมทั้งถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุโนอึล
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายพลากร สุวรรณรัฐ พร้อมด้วย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ นายอำพน กิตติอำพน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท และพล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี ร่วมติดตามการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมฯ
เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากพายุ “โนอึล” และแจ้งประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้รับผล กระทบน้อยที่สุด โดยมี ส่วนราชการ ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เพื่อติดตามสถานการณ์ในระดับพื้นที่
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า พายุโซนร้อนโนอึลได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และคาดว่าจะอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำและสลายตัวในวันนี้ (19 ก.ย.63) ซึ่งยังคงทำให้ประเทศไทยมีฝนตกในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยขณะนี้มีจังหวัดได้รับผลกระทบ 18 จังหวัด ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งไม่มีรายงานสถานการณ์สาธารณภัยในระดับรุนแรง
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดที่ได้รับผลกระทบได้สั่งการควบคุม และบัญชาการรับผิดชอบในการจัดการสาธารณภัยในเขตจังหวัด โดยมีอำเภอองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่เป็นหน่วยดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถ ทั้งการซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ การระบายเปิดทางน้ำ การดูแลด้านสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาล โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับหน่วยงาน ด้านพยากรณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ว่าพายุดังกล่าวจะมีผลกระทบถึงวันที่ 20 ก.ย. 2563 และได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมรับมือผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้น
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์และผลกระทบว่า จากการติดตามสถานการณ์พบว่า พายุ “โนอึล” ได้ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถาน การณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย มาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.2563
โดยปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับผลระทบ รวม 18 จังหวัด 45 อำเภอ 65 ตำบล 86 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ยังไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต (จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา มุกดาหาร ปราจีนบุรี ตาก นครราชสีมา อุดรธานี ตรัง ชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์) ทั้งนี้ ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของพายุ “โนอึล” และจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง