กองทัพเรือกำหนดให้วันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปีเป็น“วันอาภากร” เพื่อรำลึกถึงพระกรุณาคุณของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทรงมีต่อกองทัพเรือและประเทศไทย
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. พล.ร.อ. เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา ณ พระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ฐานทัพเรือกรุงเทพ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในการนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้อ่านคำประกาศพระเกียรติคุณแด่ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระปรีชาสามารถของพระองค์
จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนราชสกุลอาภากร ผู้แทนสมาคมภริยาทหารเรือ หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตลอดจนผู้แทนหน่วยราชการนอกกองทัพเรือ และผู้แทนภาคเอกชน ร่วมวางพวงมาลาพร้อมกัน ทั้งนี้กองทัพเรือยังได้จัดกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2565 ถึง 19 พฤษภาคม 2566 โดยมีพิธีเปิดกระโจมไฟ และเรือนหมอพร การแสดงกำลังทางเรือ พิธีน้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณ การแสดงแสงสีเสียง และการแสดงต่าง ๆ ของจังหวัดชุมพร ณ หาดทรายรี จังหวัดชุมพร รวมทั้งมีกิจกรรมเทิดพระเกียรติในพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 1 ทัพเรือภาคที่ 2 ทัพเรือภาคที่ 3 กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด และหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พุทธศักราช 2423 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาโหมด ในปีพุทธศักราช 2436 ภายหลังจากเหตุการณ์การรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ร.ศ.112 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมายุ 13 ชันษา เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษอันเป็นประเทศต้นแบบของการทหารเรือ พระองค์ท่านจึงนับเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์แรก ที่ได้ศึกษาวิชาการทหารเรือในต่างประเทศณ เวลานั้น กิจการทหารเรือในด้านต่าง ๆ ยังมิได้มีรากฐานมั่นคง และนายทหารเรือที่เป็นคนไทยที่มีความรู้วิชาการทหารเรือมีจำนวนน้อย ต้องว่าจ้างชาวต่างประเทศมาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยต่าง ๆ ของกรมทหารเรือ
เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษา ในปีพุทธศักราช 2443 ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ด้วยพระปณิธานอันตั้งมั่นที่จะปฏิรูป และพัฒนาการทหารเรือให้มีรากฐานที่มั่นคง เข้มแข็ง และเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ พระองค์ได้ทรงจัดระเบียบราชการกรมทหารเรือขึ้นใหม่ ส่งผลให้การปฏิบัติงานไม่ซ้ำซ้อน และการปกครองบังคับบัญชา มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทรงจัดทำโครงการป้องกันประเทศทางทะเล อันประกอบด้วยความต้องการกำลังรบทางเรือ และแนวคิดในการใช้กำลังทางเรือ ซึ่งถือเป็นแผนการทัพฉบับแรกของกรมทหารเรือ ทรงปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนนายเรือ ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และได้ทรงนำนักเรียนนายเรือ ออกฝึกภาคต่างประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ซึ่งใช้กำลังพลประจำเรือที่เป็นคนไทยทั้งหมด เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ พระองค์ทรงเห็นการณ์ไกลว่าบริเวณอ่าวไทยตอนบนนั้น จุดยุทธศาสตร์ทางทะเลมที่ดีที่สุด คือ บริเวณอ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จึงทรงขอพระราชทานที่ดินที่สัตหีบจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยกำลังรบที่สำคัญของกองทัพเรือจนปัจจุบัน
นอกจากพระปรีชาสามารถด้านการทหารเรือแล้ว พระองค์ทรงศึกษาตำราแพทย์แผนไทยอย่างจริงจัง ทรงศึกษาค้นคว้าตำรับยาแผนไทยอย่างจริงจัง ทรงศึกษาค้นคว้าตำรับยาแผนโบราณและรวบรวมลงในสมุดข่อยด้วยลายพระหัตถ์พร้อมกับเขียนรูปลงสีด้วยพระองค์เอง และทรงให้การรักษาราษฎรที่เจ็บป่วย โดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ จนพระเกียรติคุณนาม “หมอพร” เป็นที่รู้จักไปทั่วทุกสารทิศ อีกทั้งทรงมีพระปรีชาสามารถด้านศิลปะ ทรงเขียนภาพลายไทยที่งามวิจิตรดังปรากฏในผนังโบสถ์วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท และทรงพระนิพนธ์บนเพลงทหารเรือที่มีเนื้อหาปลุกใจให้เข้มแข็ง เป็นการปลูกฝังนายทหารเรือให้มีความรักชาติ รักแผ่นดิน และมีความสามัคคี อันเป็นเอกลักษณ์ที่ดีงามของทหารเรือ ซึ่งยังคงขับร้องกันอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน