“พิพัฒน์” เผยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศไม่สามารถทำได้ทั้งหมดขึ้นกับทักษะการทำงาน ย้ำเตรียมหารือคณะกรรมการไตรภาคีพ.ย.นี้ หวั่นกระทบเอสเอ็มอี
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐมีนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2567 ว่า ในเบื้องต้นคงไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ 400 บาททั่วประเทศ เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบทั้งภาคอุตสาหกรรม และการผลิต
นอกจากนี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด 10% จากค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน 328-354 บาท ธุรกิจหลายภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจะไปต่อไม่ได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการลักลั่นทางรายได้สำหรับกลุ่มแรงงานใหม่และแรงงานเก่า โดยการขยับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อ
ทั้งนี้เบื้องต้นการขึ้นค่าแรง 400 บาท จะเป็นการจ่ายตามทักษะ หรือ Pay by skill เน้นแรงงานไทย หรือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีการเพิ่มทักษะแล้ว ซึ่งหลังจากหารือกับทั้งนายจ้าง และลูกจ้างแล้วจะกำหนดรายละเอียดอีกครั้งว่าจะปรับขึ้นในภาคอุตสาหกรรมไหนได้บ้าง และจะนำไปหารือในคณะกรรมการไตรภาคี คาดว่าจะสรุปตัวเลขการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ภายในเดือนพ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม จะต้องปรับขึ้นค่าแรง ต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของไทยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยว่า ณ ขณะนั้นตัวเลขเงินเฟ้อจะอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ โดยค่าแรงขั้นต่ำจะต้องปรับขึ้นให้สูงกว่าเงินเฟ้อ
นอกจากนี้กระทรวงแรงงาน ได้มีการหารือทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และรับฟังข้อเรียกร้องจากเครือข่ายต่างๆ ก่อนจะเคาะค่าแรงขั้นต่ำ แต่ยืนยันค่าแรง 400 บาทต่อวัน ไม่ขึ้นแบบกระชาก เพราะจะกระทบนายจ้าง และภาคธุรกิจเอสเอ็มอี
รายงานข่าวแจ้งว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ ได้เดินสายหารือกับภาคเอกชนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับค่าแรงเป็นวันละ 400 บาท โดยได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย ซึ่งได้หารือความเป็นไปได้เรื่องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) จะพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดในเดือนต.ค. 66 ใน 2 แนวทาง คือ 1.การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ทุกจังหวัดพร้อมกันตั้งแต่ 46-72 บาท 2.การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท นำร่องเฉพาะบางจังหวัด โดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเคยใช้แนวทางนี้เมื่อปี 2555 นำร่อง 7 จังหวัด ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และขึ้นครบทุกจังหวัดในปีนี้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรต้องเป็นไปตามกลไกคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) ที่ประกอบด้วยระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ โดยยึดตามอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ รวมทั้งความต้องการแรงงานในแต่ละจังหวัดเป็นหลัก เนื่องจากค่าแรงถือเป็นต้นทุนสำคัญที่จะส่งผลต่อภาคการผลิต และบริการที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น
“หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ จะเป็นการขึ้นแบบกระชากจากฐานค่าแรงเดิมในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 328-354 บาท โดยกลุ่มที่ค่าแรงต่ำสุด จะมีต้นทุนจะสูงขึ้น 20% และมากที่สุดก็ต้นทุนสูงขึ้น 13% ซึ่งถือว่าได้รับผลกระทบสูง”
สำหรับอุตสาหกรรม 45 กลุ่มของ ส.อ.ท. 50 % เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จึงเป็นการจ้างแรงงานทักษะสูง ซึ่งมีการจ่ายค่าแรงตามทักษะของแรงงาน (Pay by Skills) อยู่แล้วที่ 600-900 บาทต่อวัน
ส่วนที่เหลืออีก 50% เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น เกษตรอุตสาหกรรม ประมง อาหารทะเล และแปรรูปอาหาร ภาครัฐจำเป็นต้องให้เวลากลุ่มเหล่านี้ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบออโตเมชั่น และการใช้หุ่นยนต์ราว 3-5 ปี โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเอสเอ็มอีที่ต้องการมาตรการช่วยเหลือ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้อุตสาหกรรมมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้
ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ และมีการใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ก็ให้เชิญชวนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่า ซึ่งเป็นไปตามกลไกที่เกิดขึ้นทั่วโลก
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลใหม่ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี สมาคมโรงแรมไทยจึงขอให้ยับยั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้ตระหนักถึงความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และศักยภาพในแต่ละพื้นที่จังหวัดที่หลายพื้นที่ยังคงอยู่ในระยะฟื้นตัว ยังมีประเด็นเรื่องของราคาพลังงาน ค่าแก๊ส ค่าไฟ ที่ยังคงเป็นต้นทุนที่สูงมากในภาคธุรกิจโรงแรม รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการด้วย