“พาณิชย์” เดินหน้าสร้างความเข้มแข็ง “เอสเอ็มอี” จับคู่ธุรกิจ อัดวงเงินให้สินเชื่อ หวังเพิ่มสัดส่วนมูลค่าจีดีพีเอสเอ็มอีทะลุ 3 แสนล้านบาทในปี 67
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ เชิญผู้แทนหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนเข้าร่วมหารือเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงเตรียมความพร้อมการจัดงาน “มหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย” ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 และวางแผนกำหนดมาตรการส่งเสริมและแก้ปัญหา SMEs โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การจัดกิจกรรม “มหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย” ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วน (Quick Win) ของกระทรวงพาณิชย์ในการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SMEs ผลลัพธ์สำคัญจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ และช่วยขยายตลาดให้ผู้ประกอบการ SMEs เบื้องต้น กำหนดจัดกิจกรรมช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 ณ กรุงเทพมหานคร กิจกรรมหลักภายในงานประกอบไปด้วย
1.1 การเปิดพื้นที่ให้ SMEs เข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้า เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจอาหาร ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น จำนวนไม่น้อยกว่า 100 คูหา
1.2 การเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจ
1.3 การสัมมนาหัวข้อที่ SMEs จำเป็นต้องรู้เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น กฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศ สิทธิประโยชน์ FTA และแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
1.4 การให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ภายใต้กิจกรรม ‘จับคู่กู้เงิน’
1.5 การให้คำปรึกษาด้านการทำธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ โอกาสนี้ขอเชิญชวนให้ SMEs และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฯ โปรดติดตามความคืบหน้าของการจัดงานซึ่งจะแจ้งให้ทราบ และระยะที่ 2 จะออนทัวร์จัดกิจกรรมฯ ทั้ง 4 ภูมิภาคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและช่วยเหลือผู้ประกอบการชุมชนในการขยายตลาดและฐานลูกค้า
2. วาง Road Map “มาตรการส่งเสริมและแก้ปัญหา SMEs” เพื่อเพิ่มสัดส่วน GDP SMEs ไทย ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่า SMEs ให้ได้ 3 แสนล้านบาท ภายใน 1 ปีแรก (ปี 2566-2567) และนำไปสู่มูลค่า 5 แสนล้านบาท/ปี ภายในปี 2570 หรือเติบโตขึ้น 40% โดยเดินตาม 8 แนวทาง ได้แก่
2.1 บูรณาการระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อจัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมทักษะให้ SMEs
2.2 สร้างอาชีพด้วยแฟรนไชส์ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ว่างงาน ผู้สนใจประกอบธุรกิจ และครอบครัวผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถเลือกซื้อแฟรนไชส์ตามความถนัด โดยแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง เพราะเท่ากับซื้อความสำเร็จจากเจ้าของธุรกิจ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แฟรนไชส์ซีและแฟรนไชส์ซอร์ได้สร้างธุรกิจสร้างตัวไปพร้อมกัน
2.3 เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศด้วยการนำสินค้าชุมชน หรือ SMEs หรือ OTOP มาเสนอขายแก่ผู้บริโภคในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยกว่า 2.5 ล้านคน โดยจัดแพ็คเกจสินค้าที่เหมาะกับการยังชีพให้สะดวกต่อการเลือกซื้อสินค้า และมีระบบการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็ว เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก และสามารถสร้างผู้บริโภคเพิ่มขึ้นได้ถึง 15 ล้านคน
2.4 เพิ่มมูลค่าสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและนอกประเทศ
2.5 การบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อรักษาสมดุลราคาทั้งพืชไร่ พืชสวน และปศุสัตว์ เพื่อรองรับผลผลิตประมาณ 75,000 ตัน/ปี
2.6 พัฒนาร้านค้าโชห่วยด้วยระบบการค้าสมัยใหม่ นำเทคโนโลยี POS มาช่วยบริหารจัดการร้านค้า พร้อมทั้งปรับภาพลักษณ์ร้านค้าให้สวยงาม เพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ให้เข้าใกล้ลูกค้ามากขึ้น และส่งเสริมการแข่งขันให้เท่าเทียมกัน
2.7 ส่งเสริมการเติบโต SMEs ในท้องถิ่น ผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP) ให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดและเป็นคู่ค้ากับภาครัฐได้
2.8 สนับสนุนและสร้างมาตรฐานธุรกิจ E-Commerce โดยส่งเสริมให้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมรับเครื่องหมาย DBD Registered การันตีความมีตัวตน และเครื่องหมาย DBD Verified รับรองความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับ ‘การสร้างอาชีพด้วยแฟรนไชส์’ เพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะพา SMEs และผู้ว่างงานให้มีงานทำ เดินไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสร้างการลงทุนในประเทศแบบก้าวกระโดด เศรษฐกิจเกิดการกระเพื่อมแบบคลื่นลูกใหญ่ส่งผลให้เศรษฐกิจทุกภูมิภาคเกิดการหมุนเวียน ทั้งนี้ เพื่อให้การผลักดันครั้งนี้สำเร็จเป็นรูปธรรม กระทรวงฯ ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดร่วมมือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในแต่ละพื้นที่คัดเลือกทำเลการค้าที่ดีในท้องถิ่นของตนเองไม่น้อยกว่า 10-20 แห่ง สร้างพื้นที่ขายสินค้าให้แก่แฟรนไชส์ พร้อมช่วยเจรจาขอค่าเช่าในอัตราพิเศษ
นอกจากนี้ ได้ประสานงานกับกระทรวงพลังงานจัดหาทำเลการค้าที่ดีสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ในสถานีบริการนํ้ามันเชื้อเพลิง (ปั๊มน้ำมัน) และเจรจาค่าเช่าราคาถูก หรือ ฟรีใน 1 ปีแรก รวมถึงประสานสมาคมตลาดสดไทยที่มีสมาชิกกว่า 300 แห่งให้คัดเลือกทำเลการค้าหรือแจ้งความต้องการว่าในพื้นที่นั้นต้องการแฟรนไชส์ประเภทใดไปลงทุน การที่กระทรวงพาณิชย์ช่วยคัดเลือกทำเลการค้าที่ดี/เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินว่าจะได้ลูกค้าที่มีทำเลการค้าที่ดี เป็นลูกค้าที่มีคุณภาพ และมีความสามารถในการชำระหนี้สูง ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการของสถาบันการเงิน
นอกจากนี้จะจัดโครงการให้ความรู้ SMEs ทั้งในด้านตลาดออนไลน์ และสินค้าที่เป็นตามความต้องการของตลาด รวมถึงสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ SMEs โดยจะจัดให้ความรู้ผ่าน E-Learning และแพลตฟอร์มต่างๆของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า