“สุดาวรรณ”เล็งยกระดับแหล่งน้ำพุร้อนของไทย เป็น “สปา ทาวน์” แบบยุโรป หรือ “ออนเซ็น ทาวน์”แบบญี่ปุ่น มอบกรมการท่องเที่ยวออกแบบ 7 เส้นทางท่องเที่ยวสายน้ำพุร้อนของประเทศไทย เพื่อสร้างแบรนด์สู่ตลาดสากล และกระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น
น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้มอบหมายให้ “กรมการท่องเที่ยว” พัฒนา “แหล่งน้ำพุร้อน” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยตั้งเป้าหมายยกระดับแหล่งน้ำพุร้อนภายในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน สู่ “สปาทาวน์” (Spa Town) แบบยุโรป หรือ “ออนเซ็นทาวน์” (Onsen Town) แบบญี่ปุ่น เพื่อให้ “เศรษฐกิจน้ำพุร้อน” (Hot Spring Economy) ของไทยที่มีศักยภาพสูง สามารถสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ “เมืองรอง” ที่รัฐบาลนี้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวให้สามารถยกระดับเป็นเมืองหลักของการท่องเที่ยวให้ได้
“การเริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจน้ำพุร้อนของประเทศไทยถือว่าพัฒนาหลังประเทศในยุโรป และญี่ปุ่นกว่า 1,000 ปี จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำโดยเร่งด่วน เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน”
การพัฒนาจะต้องเชื่อมโยงร้อยเรียงแหล่งน้ำพุร้อนในจังหวัดใกล้เคียงต่างๆ ทั้งระบบ เบื้องต้นมอบหมายให้กรมการท่องเที่ยวออกแบบเป็น 7 เส้นทางท่องเที่ยว “สายน้ำพุร้อน” หรือ “สายเวลเนส” (7 Hot Springs or Wellness Routes) เพื่อสร้างแบรนด์การตลาดสู่ตลาดสากล กระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง
พร้อมกันนี้จะต้องสร้างองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติที่มีมาตรฐานสากลสอดคล้องกับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) นำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนธรรมชาติต่อไป การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถต่อยอดธุรกิจบริการสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำพุร้อนธรรมชาติ และการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ให้มีความรู้และทักษะในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สามารถพัฒนา ต่อยอด และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนได้
ทั้งนี้ จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำพุร้อนภายในประเทศจากกรมทรัพยากรธรณีและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า “ประเทศไทยมีแหล่งน้ำพุร้อนจำนวน 118 แห่ง” โดยแหล่งน้ำพุร้อนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ 71 แห่ง รองลงมาเป็นภาคใต้ 32 แห่ง ภาคกลาง 12 แห่ง และภาคตะวันออก 2 แห่ง
สำหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ มีทั้งการใช้ประโยชน์เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะ (แหล่งน้ำสาธารณะ) ของชุมชนหรือเมือง และการใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว นอกจากนี้ในแหล่งน้ำพุร้อนหลายๆ แห่ง ยังไม่มีการใช้ประโยชน์เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติสูงหรืออยู่ในพื้นที่ชนบทที่มีการเข้าถึงยาก ส่วนแหล่งน้ำพุร้อนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองนั้น ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งแช่และอาบน้ำพุร้อนของเมือง รวมทั้งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือน