“ลวรณ” นัดถกหน่วยงานเกี่ยวข้องทบทวนยกเว้นภาษี VAT นำเข้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท สกัดสินค้าจากจีนทะลัก ชี้ไทยขาดดุลการค้ามหาศาล
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างกรมสรรพากร กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงการทบทวนการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าที่มีการสั่งซื้อและส่งเข้ามาจากต่างประเทศ
ซึ่งปัจจุบันมีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่มีหีบห่อ ราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท โดยดูว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแปลงอัตราอย่างไร หรือควรยกเลิกการยกเว้นหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์
“ในการหารือครั้งนี้ เราจะดูถึงภาพรวมของผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติ ทั้งบริการขนส่งโลจิสติกส์ที่ไม่ใช่ไปรษณีย์ การหลบเลี่ยงโดยสำแดงราคาสินค้าให้ต่ำกว่า 1,500 บาท เพื่อตั้งใจเลี่ยงภาษี รวมถึงฟรีโซน หรือเขตปลอดอากร ที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ผู้ผลิต คนทำมาค้าขายที่ได้รับผลกระทบจากยกเว้นภาษีการสั่งซื้อสินค้าด้วย”
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนอย่างกว้างขวางถึงปัญหาการสั่งซื้อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่มีราคาถูก ซึ่งนำเข้ามาได้โดยไม่เสียภาษี จนเข้ามาตีตลาด กระทบต่อสินค้าที่ผลิตในไทย จนทำให้ผู้ค้าขายรายย่อยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีราคาถูก แต่คุณภาพไม่ดี อีกทั้งขาดการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนมีปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งนี้ ทำให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีนมหาศาล อาทิ ปัญหากางเกงลายช้าง แม้จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ รวมถึงถูกผลักดันให้เป็นซอฟท์ พาวเวอร์ของไทย แต่ปรากฏว่าสินค้าที่วางขายส่วนใหญ่กับเป็นกางเกงที่ผลิตจากจีนและนำเข้ามาขายในไทย ทำให้ผู้ผลิตคนไทย ที่เป็นคนคิดค้น ไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งยังถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญ จนทำให้ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการได้มีการประชุมหารือถึงเรื่องนี้ด้วย
สำหรับการกำหนดราคาศุลกากรขั้นต่ำสำหรับของที่ได้รับการยกเว้นอากรนั้น เป็นไปตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเปิดตลาดและอำนวยความสะดวกทางการค้าในระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี โดยในส่วนของไทยนั้น การกำหนดราคาศุลกากรขั้นต่ำนั้น จะเป็นไปที่อธิบดีกรมศุลกากรด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ดี การกำหนดราคาขั้นต่ำดังกล่าว ยังเป็นที่ถกเถียงกันในเวทีโลกว่า ระดับราคาแท้จริงควรอยู่ที่เท่าไหร่จึงจะได้ผลดีต่อการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากที่สุด โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์สเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี ซึ่งการกำหนดราคาศุลกากรขั้นต่ำดังกล่าว จะช่วยลดขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าของเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดความคล่องตัวได้มากขึ้น
สำหรับราคาศุลกากรขั้นต่ำที่ไทยกำหนดให้ยกเว้นอากร 1,500 บาท เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2530 ที่กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 500 บาท ทั้งนี้ เมื่อมีการยกเว้นราคาขั้นต่ำสินค้าที่ได้รับยกเว้นอากรดังกล่าว ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าที่นำเข้าตามมูลค่าดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ด้วย เนื่องจาก อัตราอากรได้รับการยกเว้น จึงไม่มีฐานที่จะนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ขณะที่ มีข้อเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรมในการเสียภาษีจากผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรกสำหรับราคาสินค้าที่ผลิตและขาย