วันพุธ, มกราคม 15, 2025
หน้าแรกNEWSตามสัญญา “รองอ๋อง”บุกทำเนียบ ทวงร่างก.ม.รอนายกฯเซ็น31ฉบับ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ตามสัญญา “รองอ๋อง”บุกทำเนียบ ทวงร่างก.ม.รอนายกฯเซ็น31ฉบับ

ตามสัญญา “รองอ๋อง”บุกทำเนียบ ทวงร่างก.ม.รอนายกฯเซ็น31ฉบับ ยันไร้วาระซ่อนเร้น-กดดัน ยืนยันว่ามาด้วยเจตนาบริสุทธิ์และขอความร่วมมือเท่านั้น

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 พร้อมคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอพบตัวแทนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) และทวงถามกรณีที่มีร่างกฎหมายซึ่งเสนอโดยสส.และเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ยังรอนายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง จำนวน 31 ฉบับ

โดยนายปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การมาที่ทำเนียบรัฐบาลครั้งนี้ไม่ใช่การมาบุก แต่เป็นการมาหารือกับสลน. เพื่อติดตามความคืบหน้าของร่างกฎหมาย หลังจากที่ตนเคยทำหนังสือประสานงานมายัง สลน.แล้ว 2 ครั้ง แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว จึงอยากมาหารือถึงการทำงานร่วมกัน โดยยืนยันว่าเป็นเรื่องดีที่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีโอกาสหารือกัน ส่วนการที่รัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้ในสภาฯนั้น สลน.ก็ต้องทราบเหตุผล เพราะในบางครั้งเอกสารที่แจ้งมายังสภาก็ไม่ได้ระบุชัดเจน

ส่วนพรรคพรรคเพื่อไทยมองว่านายปดิพัทธ์รุกล้ำอำนาจฝ่ายบริหาร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มากดดันให้นายกฯลงนาม แต่มองว่าการทำงานร่วมกันมีเรื่องต้องปรับปรุง อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้คาดหวังว่าต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการพูดคุยครั้งแรก และเข้าใจในฝั่งรัฐบาล แต่ถ้าไม่พูดคุยกันเลย และตอบโต้กันผ่านหนังสืออย่างเดียว ก็จะไม่มีโอกาสปรับปรุงการทำงานร่วมกัน

ต่อข้อถามว่า การที่รองประธานสภาฯต้องมาที่ทำเนียบรัฐบาลเอง แสดงว่าวิปที่ประสานกับรัฐบาลทำงานไม่ตอบโจทย์ ใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของวิปรัฐบาล แต่ตนมีหน้าที่ดูแลการตรากฎหมายโดยตรง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะแม้กระทั่งร่างกฎหมายที่สส.พรรคภูมิใจไทยเป็นผู้เสนอก็ยังค้างอยู่  ต่อข้อถามว่าประธานสภาฯ มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ประธานสภาฯ ยังไม่มีความเห็น เพราะการดูแลเรื่องร่างกฎหมายเป็นหน้าที่ของตน และขอยืนยันว่าเป็นการทำหน้าที่ปกติ เพื่อช่วยให้กระบวนการนิติบัญญัติเป็นไปอย่างถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีธรรมเนียมที่รองประธานสภาฯ ต้องมาติดตามร่างกฎหมายเอง นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า แล้วไม่ดีตรงไหน ตนมองว่าทำเนียบรัฐบาลกับสภาฯ ควรทำงานใกล้ชิดกัน เพื่อให้ความไม่เข้าใจกันลดลง และไม่คิดว่าต้องวางตัวห่างกัน ฝ่ายบริหารก็มาที่สภาฯบ่อย ถ้าสภาฯจะมาเยี่ยมฝ่ายบริหารบ้าง ก็ไม่ผิดธรรมเนียมอะไร ทั้งนี้ขั้นตอนทางธุรการต้องเนี้ยบกว่านี้ ต้องแจ้งชัดเจนว่าติดภารกิจสำคัญอะไร  อย่างไร ตรงนี้ต้องมีโอกาสสะท้อนให้ฟัง ไม่ใช่ตอบโต้ผ่านสื่อ ต้องมีเวทีหารือแก้ไขปัญหาร่วมกัน และผมไม่ได้ไร้เดียงสาเรื่องกฎหมาย เรื่องจังหวะการเมืองที่จะทำให้ร่างกฎหมายไหนเข้าพิจารณาหรือไม่ แต่อย่างน้อยต้องมีความโปร่งใส ตรงไปตรงมาว่าติดขัดเรื่องใด

เมื่อถามว่าไม่มีวาระซ่อนเร้นอะไรใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ไม่มี รีบคุยรีบกลับ ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยมองว่าไม่มีมารยาททางการเมืองนั้น ตนขอถามกลับว่าการมาคุยเพื่อทำงานร่วมกันเป็นเรื่องผิดมารยาทตรงไหน ตนเข้ามาปิดทำเนียบรัฐบาลหรือ หรือมาไม่สุภาพ จึงขอยืนยันว่ามาด้วยเจตนาบริสุทธิ์และขอความร่วมมือเท่านั้น

 จากนั้น นายปดิพัทธ์และคณะ ได้เดินมาที่หน้าตึกบัญชาการ 1 เพื่อรอพบกับตัวแทนของ สลน. โดยระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบรัฐบาล ได้พยายามติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของสลน.ว่าใครจะลงมาพูดคุยกับนายปดิพัทธ์ ขณะที่นายปดิพัทธ์พูดว่า สลน.มีกี่คน ไม่อยู่สักคนเลยหรือ จากนั้นได้โชว์ภาพเอกสารที่ส่งถึงสลน. ลงวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าจะมีการมาสอบถามความคืบหน้าของร่างกฎหมายต่อสลน. ที่ทำเนียบรัฐบาล กระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 10 นาที นายจงเจริญ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการกองงานประสานงานทางการเมือง สลน. และคณะ ได้เดินมาพบกับนายปดิพัทธ์ พร้อมกับเชิญให้ขึ้นไปพูดคุยที่ห้องประชุมชั้น 5 ตึกบัญชาการ 2

ต่อมา เวลา 14.00 น. นายปดิพัทธ์ กล่าวก่อนเริ่มการหารือว่า การมาที่ทำเนียบฯในวันนี้ เพื่อมาดูกระบวนการทำงานทางธุรการ ว่าเมื่อมีการส่งร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินมาแล้ว มีกระบวนการอย่างไร เพราะเวลาบอกว่ารอความเห็นจากหน่วยงานนั้น มันครอบคลุมทุกอย่าง รวมถึงมาสอบถามเรื่องการการตอบกระทู้ถาม ส่วนการที่รัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู้นั้น แม้ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ระบุว่าถ้ารัฐมนตรีไม่มาตอบ ต้องชี้แจงเป็นหนังสือ ซึ่งรัฐมนตรีบางคนชี้แจงละเอียด แต่บางคนบอกแค่ว่าติดภารกิจ ดังนั้น ต่อจากนี้จึงอยากให้ชี้แจงชัดเจนขึ้น รวมถึงปัญหาความเดือดร้อนประชาชนที่ส่งมาที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากมีหารือในการประชุมสภาฯ รัฐบาลจะมีการติดตามได้อย่างไร

ด้านนายจงเจริญ กล่าวว่า หลังจากรองประธานสภาฯทำหนังสือมาถึงสลน.แล้ว สลน.ได้พิจารณาและมอบหมายตนไปพบรองประธานสภาฯ ที่รัฐสภา ตนจึงอยู่ระหว่างรอรับแจ้งจากฝ่ายสภาฯ ว่าจะให้ไปพบเมื่อไหร่ จึงคิดว่าเป็นจังหวะหนังสือที่ส่งสวนทางกัน ทำให้อาจดูขลุกขลักในวันนี้

ต่อมา เวลา 14.36 น. นายปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการหารือว่า วันนี้ตนไม่ได้พบกับผู้บริหารรัฐบาล แต่พบกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งทำให้ได้รับฟังและเข้าใจว่าร่างกฎหมายต้องรับฟังความเห็นหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก แต่ตนอยากให้เพิ่มรายละเอียดในเอกสารที่ตอบกลับสภาฯ ให้เกิดความชัดเจนขึ้น เช่น คำว่ารอหน่วยงาน รัฐบาลส่งไปกี่หน่วยงาน มีหน่วยงานไหนตอบแล้วและยังไม่ตอบมา เพื่อให้สภาฯจะได้เห็นความชัดเจน รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงก็จะได้ประเมินผลฝ่ายกฎหมายของตัวเอง ส่วนปัญหาที่รัฐมนตรีไม่ตอบกระทู้นั้น หนังสือที่ตอบกลับจากรัฐมนตรีบางคนบอกแค่ว่าเป็นภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ระบุรายละเอียดนั้น ถือเป็นการทำผิดข้อบังคับ จึงจำเป็นต้องรายงานต่อสาธารณะ และจากนี้ก็ได้ประสานว่าการทำหนังสือขอให้ทำโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้ สลน.ยอมรับข้อเสนอใน 2 ประเด็นดังกล่าว ส่วนจะทำได้หรือไม่นั้น คิดว่าเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะมาสอบถามความคืบหน้ากฎหมายที่ทำเนียบรัฐบาลอีกหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เดี๋ยวค่อยว่ากัน

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img