“ถาวร” เชื่อ แม้ “พิชิต”ลาออกศาลรัฐธรรมนูญต้องดำเนินการต่อ เหตุไม่ใช้อำนาจหน้าที่ กลั่นกรองเรื่อง ความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานทางจริยธรรม
เมื่อวันที่ 22 พ.ค.นายถาวร เสนเนียม อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า กรณีของ สว 40 คน ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ชื่นบาน กรณีขาดคุณสมบัติฯ ต่อมานายพิชิต ชื่นบาน ลาออกเพื่อไม่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีต่อไป หรือด้วยการอ้างเหตุผลอื่นก็ตาม ผมนายถาวร เสนเนียม มีความเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญยังต้องพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ต่อไปตามเหตุผลดังต่อไปนี้
เห็นว่ากรณีที่มีการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิชิต ชื่นบาน และนายกเศรษฐานั้น
แม้นายพิชิตชื่นบานจะลาออกไปแล้วซึ่งโดยปกติศาลรัฐธรรมนูญมักจะจำหน่ายคดีเพราะผู้ถูกร้องได้พ้นจากตำแหน่งไปจึงไม่เป็นประโยชน์ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้ไต่สวนต่อไป
แต่ในกรณีนี้เป็นการร้องให้วินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิชิต ต่อเนื่องไปถึงความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานทางจริยธรรมของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องมีคุณสมบัติตามข้อนี้ด้วย
ดังนั้นแม้นายพิชิตจะลาออกไปแล้วคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีก็จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามีความซื่อสัตย์สุจริตและฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมตามคำร้อง ของผู้ร้องหรือไม่
เมื่อคำนึงถึงบทบาทและหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีผู้เป็นประมุขฝ่ายบริหารผู้ที่สภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งเพื่อให้ทำหน้าที่ สูงสุดของฝ่ายบริหาร แสดงว่าปวงชนชาวไทยยินยอมให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่นั้น
ดังนั้น คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีจึงต้องเป็นแบบอย่างทั้งในทางความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นผู้มีมาตรฐานทางจริยธรรม
การพิสูจน์คุณสมบัติของนายกตามคำร้อง ของผู้ร้องจึงต้องพิสูจน์ กันต่อไปว่า ผู้ที่ตนแต่งตั้งในครั้งที่ถูกร้องนี้ตนได้แต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 160 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่านายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการให้สินบนเจ้าหน้าที่ศาลในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับนายทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง/ใช้ให้นายพิชิตให้ทำหน้าที่ทนายทนายความ และนายพิชิตเองก็ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทนายความ ข้อเท็จจริงจึงยุติเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตของนายพิชิตได้แล้วว่าไม่เพียงพอที่จะเป็นรัฐมนตรีได้ จึงได้ชิงลาออกไปเพื่อหวังยุตติคดีไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวน
เมื่อข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไป เกี่ยวกับประวัติของนายพิชิตในด้านความซื่อสัตย์และมาตรฐานทางจริยธรรมที่ติดลบ เป็นการง่ายที่นายกรัฐมนตรีจะใช้ใช้ความรู้ความสามารถกลั่นกรองวินิจฉัยเสียก่อนเสนอทูลเกล้าให้ มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายพิชิต
อีกทั้ง อำนาจหน้าที่ของ นายกรัฐมนตรีไม่จำกัดเฉพาะการเสนอเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแต่ยังมีหน้าที่ พิจารณาและนำเสนอแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงทั่วประเทศจำนวนมากในแต่ละปี
นายกรัฐมนตรีจึงต้องมีความรู้และความรอบคอบ ประกอบความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานทางจริยธรรมระดับสูงในการนำเสนอบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ จะอ้างอิงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพียงบางส่วนแต่เมื่อนายกไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่กลั่นกรองคุณสมบัติบนพื้นฐานความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานทางจริยธรรมที่บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควรจะมี ย่อมเป็นการแสดงออกถึงความไม่ซื่อสัตย์ ความไม่สุจริต
จึงตกเป็นผู้ประพฤติฝ่าฝืนจริยธรรมเสียเอง ดังนั้น พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งนายพิชิต ซึ่งง่ายที่วิญญูชนทั่วไปสามารถจะวินิจฉัยได้ว่า
เป็นผู้ไม่ซื่อสัตย์สุจริตและไม่มีมาตรฐานทางจริยธรรม จึงสมควรที่จะถูกวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญต่อไป เพื่อเป็นบรรทัดฐานของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี
เพราะการแต่งตั้งรัฐมนตรีเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองและทางกฎหมายที่เป็นแบบอย่างให้แก่ข้าราชการประชาชนและเยาวชนหากยอมรับให้นายกรัฐมนตรีสามารถเสนอแต่งตั้งใครก็ได้
หรือสามารถแต่งตั้งผู้ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ผู้ไม่มีมาตรฐานทางจริยธรรมได้ตามอำเภอใจได้ รัฐธรรมนูญก็จะถูกละเมิดคุณธรรมและศีลธรรมก็จะไม่ใครคำนึงถึงอีกต่อไป
เมื่อนายกรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 จึงต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ตามรัฐธรรมนูญครับ