‘เผ่าภูมิ’ แจงความจำเป็นเดินหน้า ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เปรียบประเทศ เป็นบ้านหลังคารั่ว ต้องยอมกู้มาอุดรอยรั่ว เพื่อกระตุ้น ศก. เกิดการหมุนเวียนเงินในระดับชุมชน ยัน หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ ไม่ต้องกังวล
วันที่ 17 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีวาระพิจารณาเป็นพิเศษ คือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. หรืองบกลางเพิ่มเติม เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงฝ่ายค้าน ที่อภิปรายถึงการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะที่มีปัญหา และต้องทำอะไรสักอย่าง ตัวเลขการลงทุน และภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความแปรปรวน ในฐานะที่เป็นรัฐบาล มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อม เปรียบประเทศไทยเป็นบ้าน ซึ่งหลังคามีรอยรั่ว เมื่อฝนตกลงมาก็เข้าบ้าน ดังนั้นวิธีคิดของเรา คือ เมื่อบ้านเรารั่ว อาจต้องมีการขาดดุลงบประมาณและกู้หนี้ยืมสิน เพื่ออุดรอยรั่วนี้ เพื่อไม่ให้น้ำเข้าบ้าน และเราก็ใช้เวลาออกไปทำงานหารายได้ ส่วนแนวคิดของฝ่ายค้ืาน เปรียบเสมือน การวักน้ำออกจากบ้าน
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า การที่ฝ่ายค้าน ระบุว่า การกู้เงินเต็มเพดานและขาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์ และไม่เหลือพื้นที่การคลังไว้ดูแลประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูหนี้สาธารณะ ที่เป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งหนี้สาธารณะของไทย อยู่ที่ 54.3 % เท่านั้น เมื่อเทียบกับต่างชาติและภาวะทางการคลัง ซึ่งหนี้สาธารณะก้อนนี้ ไม่ได้อยู่ในความกังวลและอยู่ในระดับต่ำด้วยซ้ำ ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด
ขณะที่การหยิบยกตัวเลขว่าการใช้เงิน 5 แสนล้านบาท และกลับเป็นผลตอบแทน 3.5 แสนล้านบาทนั้น ถือเป็นความผิดพลาดทางวิชาการและเทียบกันไม่ได้ เพราะตัวเลข 5 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขในมิติของนอมินอลเทอม คือการนำไปเทียบกับจีดีพีทั้งก้อน แต่ตัวเลข 3.5 แสนล้านบาท นั่นคือเรียลเทอม คือมิติของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเป็นความผิดพลาดทางวิชาการที่นำเอานอมินอลเทอม มาเปรียบกับเรียลเทอม แล้วบอกว่าคือการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า การคิดถึงความคุ้มค่าของดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้มองไปถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่อีกด้าน คือโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและข้อมูลของประชาชนที่จะเข้าสู่ระบบ และสามารถระบุตัวตนของประชาชนได้ มาตรการภาครัฐต่อจากนี้ จะสามารถช่วยเหลือตรงไปที่ประชาชนได้ประโยชน์เหล่านี้มหาศาลตรงนี้ ต้องเอาเข้าไปรวมอยู่ในการประเมินความคุ้มค่าของโครงการด้วย ไม่ได้มองแค่ตัวเลขล้วนๆ
นายเผ่าภูมิ ชี้แจงว่า ทำไมต้องมีการกำหนดรัศมีการใช้ ให้อยู่ในอำเภอ ถ้าไม่อยากให้ไหลเข้ากรุงเทพและเมืองใหญ่ๆ อยากให้วนอยู่ในเมืองรอง ตลาดและชุมชน ส่วนที่เงื่อนไขต้องตัดการนำไปซื้อโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะไม่อยากให้เงินไหลออกนอกประเทศ แต่อยากให้หมุนอยู่ในชุมชน เกิดการใช้งานและการผลิต ยืนยันทุกเงื่อนไขที่ได้กำหนด ทำให้เงินลงไปสู่ชุมชนให้มากที่สุด
ส่วนที่มองว่ารัฐบาลไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ นอกจากรอดิจิทัลวอลเล็ตนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการใส่เม็ดเงินลงสู่ระบบ สามารถทำได้ ในมิติทั้งการอัดเม็ดเงินจริงและอัดเม็ดเงินในลักษณะของสินเชื่อ ซึ่งทั้งคู่มีผลทางเศรษฐกิจคล้ายกัน ลงไปเป็นเม็ดเงินและการลงทุนเหมือนกัน นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมกระทรวงการคลังจึงใส่มาตรการในมิติของสินเชื่อระหว่างรอดิจิทัลวอลเล็ตค่อนข้างเยอะ
“มุมมองของแต่ละฝ่าย ไม่ได้บอกว่า มีใครผิดหรือถูก แต่อาจจะมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน เป็นแค่มุมมองที่ไม่ตรงกัน ซึ่งในฐานะรัฐบาล เรามีหน้าที่รับฟังนำมาปรับปรุง และแก้ไขให้ดีที่สุดแต่ขณะเดียวกัน ก็มีหน้าที่ชี้แจง เพื่อให้เห็นมุมมองวิธีคิดและวิสัยทัศน์ของรัฐบาล” นายเผ่าภูมิ กล่าว