วันพฤหัสบดี, กันยายน 5, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSเลขาฯ โอลิมปิค แจงยิบ ชุดพิธีการโอลิมปิค ‘ปารีส 2024’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เลขาฯ โอลิมปิค แจงยิบ ชุดพิธีการโอลิมปิค ‘ปารีส 2024’


เลขาฯ โอลิมปิค แจงยิบ ชุดพิธีการโอลิมปิค ‘ปารีส 2024’ ยืนยัน ทำเพื่อประเทศ และชื่อเสียงประเทศเท่านั้น ไม่มีอะไรแอบแฝง ไม่เคยมีผลประโยชน์ตอบแทน

วันที่ 19 ก.ค.67 ที่สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย พลเอกวิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย นัดแถลงข่าว ระบุว่า จากการที่มีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับภาพนักกีฬาสวมชุดไทยพระราชทาน ตนพบว่าความเข้าใจผิดในวงกว้าง จึงขอนุญาตชี้แจง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ


พลเอกวิชญ์ กล่าวว่า วันนี้ ตนในฐานะตัวแทนคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ต้อง
ขอขอบคุณสำหรับทุกความคิดเห็น และน้อมรับฟังทุกความคิดเห็น เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธ์ที่จะออกความเห็นร่วมกันอย่างเท่าเทียม ภายใต้ความสุภาพและเคารพกันในฐานะคนไทยด้วยกัน


และต้องขออภัยมา ณ ที่นี้สำหรับความเข้าใจผิด และข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากทีมงาน ไม่ว่าจะในส่วนไหน เนื่องด้วยที่ผ่านมา ทางโอลิมปิคฯ มิได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่า ชุดไหนใช้สำหรับงานช่วงใดในโอลิมปิคครั้งนี้


เนื่องจากทางคณะกรรมการโอลิมปิค และทีมงาน มีความตั้งใจในการเผยแพร่ ศิลปะ วัฒนธรรม ร่วมขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศไทยเรา ผ่านวัฒนธรรมผ้า และสิ่งทอไทย จึงได้มอบหมายให้ทีมออกแบบของแต่ละแบรนด์ ทำมาเสนอ ซึ่งก็จะมีในส่วนของ ชุดกีฬา แจ๊คเก็ต ชุดไทยพระราชทาน รองเท้า กระเป๋า ต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการโอลิมปิค เป็นผู้คัดเลือกออกแบบตัดเย็บเอง ภายใต้ชื่อแบรนด์ ทรงสมัย ทางคณะกรรมการโอลิมปิค ดำเนินการคัดเลือกผ้าเอง ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด การออกแบบตัดเย็บ เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการโอลิมปิค ทั้งหมด ไม่มีหน่วยงานใดๆ เกี่ยวข้องทั้งสิ้น จากเหตุการณ์ทั้งหมด ทางคณะกรรมการโอลิมปิค ขอรับผิดชอบไว้แต่เพียงผู้เดียวครับ
ในส่วนของชุดไทยพระราชทานสีฟ้า ที่ปรากฏนั้น ทางคณะกรรมการได้กำหนดให้นักกีฬาใช้สวมใส่ ในวาระโอกาสงานพิธี ที่เป็นทางการ


ส่วนชุดที่จะใช้ในพิธีเปิด จะเป็นเสื้อแจ็กเก็ตสีน้ำเงินจากแกรนด์สปอร์ต ทั้งนึ้ ในการประชุม ตนและคณะกรรมการได้ย้ำคอนเซ็ปต์กับทางทีมผู้ออกแบบและตัดเย็บว่า ขอให้เป็นผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่อึดอัด เข้ากับสภาพอากาศ แต่ต้องแฝงด้วยเรื่องราวและอัตลักษณ์ความเป็นไทย มีความทันสมัยและเป็นสากล ซึ่งมองว่าทางแกรนด์สปอร์ตทำออกมาได้ดี
“ในตอนแรก ผมยังคิดอยากนำเสื้อลายช้าง ที่เป็นที่รู้จักและนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้ทัพนักกีฬาสวมใส่ ขึ้นเรือ เพราะเห็นว่าเนื้อผ้าใส่สบายมีความพลิ้วไหวดี แต่ก็กังวลจะเกิดประเด็นว่าไม่เหมาะสมดูสบายๆ ไป จึงได้คิดใหม่ ทำใหม่อย่างระมัดระวังมาโดยตลอด” พลเอกวิชญ์กล่าว


สุดท้ายนี้ ผมขอให้ทุกท่านร่วมมือกันแสดงพลังความรัก ความสามัคคี ที่มีในคนไทยทุกภาคส่วน ร่วมมือกันรักษา สืบสาน ขับเคลื่อนศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ต่อยอดสิ่งดีๆ ประสบการณ์ดีๆ ของคนรุ่นก่อนๆ ประเทศไทยประกอบไปด้วยประชาชนที่มีความรู้ความสามารถ ทุกเพศทุกวัย และทรัพยากรพร้อมในทุกอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และ กำลัง ความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ ก็จะสามารถช่วยกันผลักดันนำพา Soft Power อัน
ดีงาม คงความเป็นอัตลักษณ์ไทย มีความเป็นสากล ทันสมัย ให้ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกได้


พลเอกวิชญ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา มองว่าการแต่งกายที่ออกแบบในโอลิมปิกเกมส์ระดับนานาชาติ ตั้งแต่ ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ เราใช้สูทธรรมดา สากล ปีนี้เป็นปีที่เรามองว่าเป็นสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของคนไทยจริงๆ หลายประเทศใส่ชุดพื้นเมืองต่างๆ เยอะแยะไป สามารถมองต่างมุมได้ ยอมรับว่า บางครั้งอาจจะมองในภาพที่สวยหรูเกินไป หรือ มองในภาพที่ผิดไป ก็ต้องขอรับผิดชอบในสิ่งนี้ด้วย


“สิ่งที่เราได้พยายามทำ ทำเพื่อประเทศ และชื่อเสียงประเทศเท่านั้น ไม่มีอะไรแอบแฝง ไม่เคยมีผลประโยชน์ตอบแทน มีแต่เพียงสนับสนุนกีฬาเท่านั้น ที่เราต้องการแสดงออกว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ไม่มีความสามารถ เราเป็นหนึ่งในโลกที่สามารถแข่งขันกับใครก็ได้ เราผ่านควอลิฟายถึง 51 คน จาก 17 กีฬา อยากให้ร่วมใจให้กำลังใจกับนักกีฬาที่เป็นตัวแทนไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกดีกว่าที่จะมานั่งมองถึงปัญหานี้”


“ในส่วนของชุดดังกล่าว ในช่วงโอลิมปิกเกมส์ มีงานพิธีอีกหลายงานระหว่างวันที่ 26 ก.ค.-11 ส.ค. เราต้องมีชุดต่างๆ ที่ใส่ในงานเพื่อความเหมาะสมต่างๆ รวมถึงพิธีปิดโอลิมปิกเกมส์วันทีี 11 ส.ค. ซึ่งจะให้นายธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาเป็นผู้พิจารณา”


“พูดตรงๆ ผมรับผิดชอบเรื่องนี้ เห็นว่าให้นโยบายไปกับ ธนา ไชยประสิทธิ์ ชุดที่ใส่ไปก็ควรแสดงอัตลักษณ์เพราะเป็นการแข่งขันที่ 4 ปีมีครั้ง แล้วออกแบบมาเป็นชุดพระราชทานเท่านั้นเอง และคณะทำงาน เห็นชอบ ร่วมกัน รวมทั้งสีต่างๆ ที่เลือกกัน เห็นว่าควรจะใส่ในพิธีเปิด แต่มีการเปลี่ยนแปลง ขึ้น เรื่องสถานการณ์ต่างๆ อากาศร้อน จึงจะเปลี่ยนไปใช้ชุดแจ็กเก็ตนักกีฬา“


ต่อข้อถามเรื่องกระบวนการของเสื้อผ้าชุดพิธีการนั้น พลเอกวิชญ์กล่าวว่า ทางเราเห็นชอบในด้านการออกแบบ ส่วนตั้งแต่กระบวนการตัดเย็นนั้น เป็น ทรงสมัย ที่จัดการทั้งหมด กระทั่งส่งถึงมือนักกีฬา แต่ส่วนตัวตนดูแล้ว ไม่ได้เป็นเสื้อผ้าที่ไม่มีเอกลักษณ์ มองต่างมุม ไม่ใช่แค่ใส่แต่สูทอย่างเดียว
ส่วนประเด็นปัญหาเรื่องของทรงของชุดนักกีฬา ในเรื่องของการตัดเย็บที่ไม่เข้ากับรูปร่างของนักกีฬานั้น ในส่วนนี้ ทรงสมัยรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในการตัดเย็บ หนหน้าจะพิจารณาว่าควรต้องทำอย่างไรให้ไม่มีปัญหา เพราะรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย “พร้อมเปิดกว้างใช้ เอไอ เจเนเรตก็ได้ หรือถ้ามีร้านที่ตัดสวยก็แนะนำมาได้


ส่วนชุดที่ปรากฎนั้น ในส่วนของ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักแบดมินตันทีมชาติไทยนั้น เราได้สอบถามไปยัง ทรงสมัย ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะชุดพระราชทานควรจะเข้ารูป แต่ มาทราบว่า ‘ทรัพย์สิรี’ บอกให้เอาแขนยาว ตัวยาว มันก็เลยออกมาแบบนี้”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img