วันอาทิตย์, กันยายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS‘ก.ก.‘ชี้งบเพิ่มปี 67’ เสี่ยงผิดก.ม.3 ข้อ ลั่นถ้าเชื่อว่า ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เป็นนโยบายที่ดี ควรแก้ไขก.ม.ก่อน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ก.ก.‘ชี้งบเพิ่มปี 67’ เสี่ยงผิดก.ม.3 ข้อ ลั่นถ้าเชื่อว่า ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เป็นนโยบายที่ดี ควรแก้ไขก.ม.ก่อน

‘ก้าวไกล’ ชี้ ‘งบเพิ่มปี 67’ เสี่ยงผิดกฎหมาย 3 ข้อ ย้ำ เข้าใจความจำเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจ จี้รัฐบาล ถ้าเชื่อจริงๆ ว่า ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เป็นนโยบายที่ดีต่อประเทศ-ประชาชน ต้องการผลักดันให้สำเร็จ ควรแก้ไขกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน

วันที่ 21 ก.ค.67 พรรคก้าวไกล เผยแพร่สรุปคำอภิปรายของนางสาวกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรค ในการพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 67 ระบุ

“[ 3 ข้อเน้นๆ ของบกลางปี 67 ทำ #ดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงผิดกฎหมาย ]

กรณีรัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ (งบกลางปี) 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เข้าสภาฯ เป็นเรื่องด่วน ให้เหตุผลต้องการนำเงินไปทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ Sirikanya Tansakun – ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายตั้งคำถามถึงความสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายและผิดหลักการ ใน 3 เรื่องต่อไปนี้

❌[ งบดิจิทัลวอลเล็ต ไม่เป็นรายจ่ายลงทุน ]

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 มาตรา 20(1) บัญญัติว่า “การตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปีนั้น”

พูดง่ายๆ คือ รัฐบาลต้องตั้งงบ “รายจ่ายลงทุน” ให้ผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อ (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบรายจ่ายประจำปี และ ไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบปีนั้น) จึงจะถือว่าทำถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อกฎหมายวางหลักไว้แบบนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลก็พยายามทำให้ลงล็อก ด้วยการตีความงบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็น “รายจ่ายลงทุน” สูงถึง 80% ซึ่งความน่าสนใจคือ หากไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ตแล้วนั้น รัฐบาลจะทำไม่ผ่านทั้ง 2 เกณฑ์ที่ว่ามา

เทียบชัดๆ หากรวมดิจิทัลวอลเล็ตเป็นรายจ่ายลงทุน จะทำให้…

– เกณฑ์ที่ 1 : งบรายจ่ายลงทุน ปี 67 มีสัดส่วนสูงถึง 22.4% เป็นไปตามเกณฑ์ที่ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ☑️

– เกณฑ์ที่ 2 : งบรายจ่ายลงทุน ปี 67 มีวงเงิน 8.76 แสนล้านบาท เกินกว่าส่วนที่ขาดดุลซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 8.05 แสนล้านบาท เป็นไปตามเกณฑ์เช่นกัน☑️

ในทางกลับกัน หากไม่นับรวมดิจิทัลวอลเล็ตเป็นรายจ่ายลงทุน งบรายจ่ายลงทุนปี 67 จะอยู่ที่เพียง 19.71% ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ที่ 1 และวงเงินจะอยู่ที่ 710,080 ล้านบาท ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ 2

สำหรับก้าวไกล เราเห็นว่างบดิจิทัลวอลเล็ตไม่ถือเป็น “รายจ่ายลงทุน” เนื่องจาก

– ทุกคนทราบดีว่า ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการใช้เพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก

– ตามนิยามปกติ งบ “รายจ่ายลงทุน” คืองบประมาณที่ใช้ซื้อสิ่งของ สร้างสิ่งปลูกสร้างอายุเกิน 1 ปี ค่าจ้างใช้ทำของหรือปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้น

– “รายจ่ายลงทุน” หมายถึงรายจ่ายลงทุนของภาครัฐเท่านั้น ส่วนเงินที่รัฐบาลแจกให้ประชาชน = เงินโอนหรือเงินอุดหนุน (Subsidy) ที่รัฐบาลให้ประชาชนไปใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

– ดังนั้นแม้ประชาชนใช้ดิจิทัลวอลเล็ตไปซื้อสินค้าประเภททุน (เช่น อุปกรณ์ประกอบอาชีพ) ก็นับเป็นรายจ่ายลงทุน ไม่ได้

❌[ ของบกลางปี จะใช้ข้ามปีไม่ได้ ]

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 มาตรา 21 บัญญัติว่า “การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมด้วย”

อย่างที่ทุกคนทราบว่าปีงบประมาณนั้น จะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคมของปีนั้น และสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป เช่น ปีงบประมาณ 67 เริ่ม 1 ตุลาคม 2566 จนถึง 30 กันยายน 2567

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ รัฐบาลของบกลางปี 67 วงเงิน 1.22 แสนล้าน โดยจะเบิกจ่ายข้ามไปยังปีงบ 68 (ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2567) เพื่อทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่บอกว่าจะออกมาช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งยังไม่รู้เดือนไหน ระหว่างตุลาคม-ธันวาคม

นั่นเท่ากับงบกลางปีที่รัฐบาลขอไป จะถูกโยกข้ามมาใช้หลังจบปีงบประมาณ 67 เงินที่จะต้องไหลเวียนหลังจากอั้นไว้เพราะงบ 67 ออกล่าช้า ก็จะถูกปล่อยออกมาไม่สุด เพราะถูกกั๊กเอาไว้ใช้กับดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งสุดท้าย หากยึดตามกฎหมายที่บอกว่างบกลางปีต้องใช้จ่ายระหว่างปีงบประมาณ จะใช้ข้ามปีไม่ได้ เราก็เห็นว่าเรื่องนี้สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ไม่น่าทำได้เช่นกัน

❌[ ลงทะเบียน ≠ ก่อหนี้ผูกพัน หยุดสร้างบรรทัดฐานผิดๆ ]

พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 มาตรา 43 วางหลักไว้ว่า โดยปกติเบิกจ่ายงบข้ามปีไม่ได้ แต่กรณีที่จะทำได้ คือต้อง “ก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ”

เพื่อให้ลงล็อกทางกฎหมายอีก รัฐบาลจึงน่าจะใช้วิธีการตีความว่าการลงทะเบียนร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งนายกฯ ประกาศว่าจะเกิดขึ้นวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ให้ถือว่าการลงทะเบียนเป็นการ “ก่อหนี้ผูกพัน” แล้ว

เรื่องนี้ก้าวไกลเห็นว่ารัฐบาลกำลังทำสิ่งที่สุ่มเสี่ยงผิดหลักการ เนื่องจากการก่อหนี้ผูกพันต้องเป็นสัญญาที่ทำทั้งสองฝ่ายจากการกู้ ค้ำประกัน เช่าหรือซื้อของ ส่วนการลงทะเบียนไม่ถือเป็นสัญญาต่างตอบแทน จึงไม่เกิดหนี้

ถ้าถือว่าการลงทะเบียนเป็นการก่อหนี้ ในอนาคตอาจมีการเอาเยี่ยงอย่าง ใช้งบประมาณประจำปีไม่ทันก็เรียกประชาชนมาลงทะเบียนไว้ก่อนแล้วไปเบิกจ่ายข้ามปี งบประมาณในแต่ละปีจะใช้ไม่หมด เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิด ที่จะทำให้การบริหารงบประมาณผิดพลาด

ท่ามกลางข้อกังวลข้างต้น พรรคก้าวไกลยืนยันว่าเราเข้าใจความจำเป็นของการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเห็นว่าหากรัฐบาลเชื่อจริงๆ ว่าดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่ดีต่อประเทศ ดีต่อประชาชน ต้องการผลักดันให้สำเร็จ รัฐบาลก็ควรแก้ไขกฎหมายตามกระบวนการให้เรียบร้อยเสียก่อน มิใช่ดึงดันเดินหน้าทำสิ่งที่เสี่ยงขัดต่อกฎหมายเช่นนี้

สำหรับพรรคก้าวไกล เราจะทำหน้าที่ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ติดตามตรวจสอบการดำเนินนโยบายนี้ เพื่อให้ดิจิทัลวอลเล็ตหากเกิดขึ้นจริง จะมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่นโยบายอย่างที่เรากำลังกังวล ว่ารัฐบาลกำลังเทหมดหน้าตักเพื่อโครงการเดียว ที่ทั้งไม่คุ้มค่าและอาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย ยอมเสียโอกาสในการทำนโยบายอื่นๆ ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เพียงเพื่อแลกกับการได้รักษาหน้าตัวเอง”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img