“ธรรมนัส” เร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำเตรียมเสนอครม. เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเห็นชอบ 9 มาตรการที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเสนอ เตรียมนำร่องเปิดจุดรับซื้อที่จ.สมุทรสาคร 1 ส.ค.นี้
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมหารือ แนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ร่วมกับผู้แทนสมาคมการประมงจาก 16 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ณ สมาคมการประมงสมุทรสาคร อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ว่า ทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้เสนอ การแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ 9 มาตรการ อาทิ การกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ การผ่อนผันเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการใช้จับปลาหมอคางดำ การจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนสนับสนุนในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับชาวประมง และการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในแต่ละจังหวัด เป็นต้น
ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบทั้ง 9 มาตรการ และได้มอบหมายกรมประมงนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยได้มอบหมาย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ พร้อมนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเป็นวาระแห่งชาติต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงได้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวฯ เป็นการเร่งด่วนผ่าน 5 มาตรการสำคัญ คือ 1) การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 2) การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง 3) การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ 4) การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน และ 5) การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ
นอกจากนี้ ยังบูรณาการร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการนำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้ไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ และประสานความร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)ในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ระบาดทุกแห่ง ซึ่งขณะนี้กรมประมงได้มีการรวบรวมแพปลาที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2) กับกรมประมง ในพื้นที่ที่มีการระบาด 14 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา รวมทั้งสิ้น 49 จุด
สำหรับพิจารณาจัดตั้งเป็นจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ โดยการันตีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท ก่อนรวบรวมปลาหมอคางดำที่รับซื้อไว้ไปให้สถานีพัฒนาที่ดินแต่ละพื้นที่ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อส่งมอบให้การยางแห่งประเทศไทยนำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่สวนยางกว่า 200,000 ไร่ โดยจะเริ่มเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 นี้ เป็นต้นไป
ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่มีรายงานการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นที่แรกและมีการระบาดมากที่สุด จึงได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินการตาม 5 มาตรการสำคัญ จนสามารถกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรนำไปจำหน่ายให้กับโรงงานปลาป่นและผู้ประกอบการเกี่ยวเนื่องได้มากกว่า 500 ตัน ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดมากที่สุด
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงจึงได้มีการนำร่องจัดตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำขึ้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งหมด 5 จุด ประกอบด้วย 1. แพธนูทอง โทร. 0804646479 2. แพนางจารุจันทร์ จารวิไพบูลย์ (แพมิตร) โทร. 0873647298 3. นายชัยพร กรุดทอง (บอย) โทร. 0626585323 4. นายเฉลิมพล เกิดปั้น โทร. 0871714414 และ 5. แพนายวิชาญ เหล็กดี โทร.0971950564
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำโดยสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาครได้มีการประสานในการรับซื้อปลาหมอคางดำสำหรับผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง (สูตรไนโตรเจนสูง) จำนวน 4,000 ลิตร โดยได้แจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ กลุ่มหมอดินอาสา กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผัก ฝรั่ง ลำไย มะพร้าวน้ำหอม และพลู คิดเป็นพื้นที่ได้รับประโยชน์รวมกว่า 533 ไร่ อีกด้วย
“กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งเสนอปัญหาดังกล่าวเข้าเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน เจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมต่าง ๆ ด้านประมง ร่วมเป็นคณะกรรมการในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือการประกาศเขตภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และสำหรับผู้ใดที่ฝ่าฝืนทำการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ จะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ตามประกาศกรมประมง เรื่อง ประชาสัมพันธ์ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
สำหรับข้อเสนอของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย
1. เสนอขอให้รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานฯ ปลัดกระทรวง/อธิบดีฯ ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ อธิบดีกรมประมง เป็นเลขาฯ รองอธิบดีกรมประมง เป็นรองเลขาฯ ผอ.ฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้ช่วยเลขาฯ โดยมีผู้แทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
2. พิจารณาออกประกาศให้มีการผ่อนผันเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพในการใช้จับปลาหมอคางดำ ได้ใน แหล่งน้ำสาธารณะตามความจำเป็น เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ชายฝั่งทะเลในทุกจังหวัดที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยการออกประกาศดังกล่าวให้เป็นตามมติของ คกก.เฉพาะกิจแต่ละ จว.เป็นผู้พิจารณาเสนอฯ
3. กำหนดให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนที่แหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ชายฝั่งทะเล รวมถึงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประชาชนที่มีปลาหมอคางดำระบาดอยู่ เพื่อใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบ
4. กำหนดให้ประมงจังหวัดแต่ละจังหวัดร่วมกับสมาคมประมงในพื้นที่ ประสานชาวประมง รับลงทะเบียนเรือประมง ชาวประมง ที่จะมาเข้าร่วมโครงการกำจัดปลาหมอคางดำเพื่อควบคุมให้อยู่ในระบบข้อมูลทางการ
5. เสนอรัฐบาล จัดสรรงบประมาณเร่งด่วนสนับสนุนในการกำจัดปลาหมอคางดำ ให้กับชาวประมง เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเครื่องมือ ค่าอุปกรณ์ ค่าแรงงาน สนับสนุนราคาปลาหมอคางดำในราคา 15 บาท ภายในระยะเวลาที่กำหนดที่ชัดเจน (3-6 เดือน) เพื่อเร่งรัดการกำจัด และป้องกันการลักลอบเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เป็นต้น
6. กำหนดให้มีคณะทำงานเฉพาะกิจในแต่ละจังหวัด โดยให้มีประมงจังหวัด เป็นประธานฯ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนสมาคมประมงจังหวัด ผู้แทนชาวประมง ผู้แทนภาคประชาสังคม ร่วมเป็นกรรมการ เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดเป็นเลขาฯ ให้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ กำกับ ควบคุม ดูแล ตรวจสอบการใช้งบประมาณสนับสนุนให้กับเรือประมง ชาวประมง ที่เข้าร่วมโครงการ และแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจตามความจำเป็น รวมทั้งรวบรวมปัญหาต่างๆ ที่พบระหว่างการดำเนินการ พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และอาจจะเสนอปัญหาต่างๆ ให้กับกรมประมง เพื่อช่วยพิจารณาแก้ไข
7. ให้คณะทำงานเฉพาะกิจจังหวัดต่างๆ ประสานความร่วมมือกับเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ช่วยแจ้งข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่เพาะเลี้ยงต่อคณะทำงานฯ เพื่อรวบรวมข้อมูลและร่วมมือในการกำจัดปลาหมอคางดำ จากแหล่งเพาะเลี้ยงของเกษตรกร
8. ภายใต้คณะทำงานดังกล่าว ให้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจรับแจ้งข้อมูลการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยให้มีการตั้งกลุ่มไลน์และช่องทางสื่อสารอื่นๆ ในการรับแจ้งข้อมูลจากประชาชน ตัวแทนภาคประชาสังคม ในจังหวัดนั้นๆ ว่ามีพื้นที่ใดที่มีปลาหมอคางดำระบาดโดยประสานคณะทำงานฯ เพื่อดำเนินการกำจัดโดยเร่งด่วน
9. พื้นที่ไหนที่ได้มีการกำจัดปลาหมอคางดำจนเหลือน้อยแล้ว ให้เริ่มปล่อยปลานักล่าตัวใหญ่จำนวนมากพอ ลงไปใน แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง เพื่อให้ปลานักล่ากินลูกปลาหมอคางดำเพื่อตัดวงจรชีวิตปลาหมอคางดำให้หมดไปโดยเร็ว หลังจากนั้น ให้มีการส่งเสริม สนับสนุน และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยา เช่น การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นทดแทน เป็นต้น