วันอังคาร, กันยายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSการบินไทยเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ยันมีเงินสดสะสม 8 หมื่นล้าน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

การบินไทยเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา ยันมีเงินสดสะสม 8 หมื่นล้าน

การบินไทยพร้อมลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา เดินหน้าหาพันธมิตรร่วมทุนยันไม่กระทบสภาพคล่อง ปัจจุบันมีกระแสเงินสดสะสมอยู่ 8 หมื่นล้านบาท คาดยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภาว่า บริษัทฯ พร้อมเข้าลงทุน เนื่องจากเุป็นโครงการที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะการบินไทยเป็นสายการบินสัญชาติไทย และอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีฝูงบิน 140 – 150 ลำ จึงต้องสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานในไทย ไม่เช่นนั้นต้องนำเครื่องบินไปซ่อมต่างประเทศ สร้างต้นทุน และทำเม็ดเงินไหลออกนอกประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ครม. มอบหมายให้การบินไทยเป็นผู้ลงทุนในโครงการดังกล่าว แต่สืบเนื่องจากปัจจุบันการบินไทยไม่ได้มีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแล้ว ดังนั้นคงต้องรอให้ทางภาครัฐ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้พิจารณาก่อนว่าจะให้สิทธิการบินไทยเช่นเดิมหรือไม่ และจะทำอย่างไรในการคัดเลือกเอกชนเข้าไปลงทุน 

“ ที่ผ่านมาเราก็มีศูนย์ซ่อมอยู่ที่อู่ตะเภา แต่อีอีซีต้องการพัฒนารันเวย์ ทำให้เราต้องรื้อถอนโรงซ่อมเครื่องบิน(แฮงการ์) และย้ายออกก่อนที่จะหมดสัญญาเช่า ดังนั้นก็คงต้องรอให้อีอีซีพิจารณาว่าจะตัดสินใจเรื่องการลงทุนนี้อย่างไร ซึ่งจะยกเลิกสิทธิของการบินไทยที่ ครม.เคยมีมติไว้หรือไม่ ซึ่งหากยกเลิกสิทธิ และเปิดประมูลจริง การบินไทยก็พร้อมลงทุน เพราะตอนนี้การบินไทยมีกระแสเงินสดสะสมอยู่ 8 หมื่นล้านบาท และการลงทุนโครงการนี้ก็จะเป็นลักษณะทยอยลงทุน และต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ดังนั้นมั่นใจว่าการลงทุนจะไม่กระทบสภาพคล่อง” 

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เจรจาหาพันธมิตรมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการ MRO มีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องหลายอย่าง ดังนั้นสามารถจัดหาพันธมิตรที่หลากหลายธุรกิจได้ ไม่เพียงผู้ผลิตอากาศยานเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่การบินไทยเจรจาอยู่ อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วน และอะไหล่ของอากาศยาน รวมไปถึงผู้ประกอบการที่เคยทำธุรกิจซ่อมอากาศยานอยู่แล้ว เป็นต้น 

สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 43,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 37,381 ล้านบาท แต่ลดลง 4.3% จากไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่ปริมาณความต้องการเดินทางอยู่ในระดับต่ำที่สุดของปี

โดยบริษัทฯ ได้กลับมาทำการบินสู่เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี และกรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทาง และพัฒนาความร่วมมือกับสายการบินคูเวตแอร์เวย์สในรูปแบบเที่ยวบินรหัสร่วม (Codeshare) เชื่อมต่อเครือข่ายไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและยุโรป ทำให้มีผู้โดยสารรวมในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 จำนวน 3.81 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 73.2%

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 38,056 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 32.1% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 5,925 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 ที่มีกำไร 8,576 ล้านบาท บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,796 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายรวม 809 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 314 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 4,401 ล้านบาท

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 89,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 14.0% มีค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 72,935 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 27.3% มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 17,001 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 21.3% มีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 9,403 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและการด้อยค่าสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายรวม 4,847 ล้านบาท

โดยส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,738 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 14,795 ล้านบาท และมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 18,402 ล้านบาท โดยมี EBITDA สูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ ในขณะที่กำไรสุทธิต่ำกว่างบประมาณเล็กน้อย อันเป็นผลมาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทฯ มีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 77 ลำ มีอัตราการใช้เครื่องบินในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เฉลี่ย 13.0 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.6% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 10.9% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 78.1% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 81.4% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวม 7.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.81 ล้านคน หรือคิดเป็น 11.8%

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 270,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 31,535 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 310,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 28,823 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 40,430 ล้านบาท ติดลบลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 2,712 ล้านบาท มีเงินสด รายการเทียบเท่าเงินสด และสินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่น ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 จำนวน 81,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,618 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี บริษัทฯ ได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 4,644 ล้านบาท จากหนี้ที่ครบกำหนดชำระทั้งปีจำนวน 13,022 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ซึ่งประกอบด้วย (1.1) การแปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 100 เป็นทุน ของเจ้าหนี้กลุ่ม 4 ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้แก่ กระทรวงการคลัง การแปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน ของเจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน) เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้)

(1.2) สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจากร้อยละ 24.50 ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนของเจ้าหนี้กลุ่ม 4 5 6 และ 18-31 ข้างต้น และ (2) การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัทฯ และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงตามลำดับ โดยคาดว่าบริษัทฯ จะสามารถยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing)

สำหรับการปรับโครงสร้างทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ภายในเดือนกันยายน 2567 หลังจากนั้น กระบวนการใช้สิทธิและแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 และกระบวนการเสนอขายและจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนสำหรับผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัทฯ และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคม 2567

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการจัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯ และที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงระยะเวลาในการพิจารณาให้หนังสือชี้ชวนมีผลบังคับใช้ของ ก.ล.ต. โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปีนี้ตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์ให้งบการเงินประจำปี 2567 ของบริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและหุ้นของบริษัทฯ กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568

สำหรับกรอบเวลาในการดำเนินกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ข้างต้นขึ้นอยู่กับกระบวนการดำเนินการของทางบริษัทฯ เพื่อความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ รวมไปถึงการพิจารณาของ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ศาลล้มละลายกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของปี 2563 ก่อนที่บริษัทฯ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทฯ ลงต่ำกว่าร้อยละ 50 ส่งผลให้บริษัทฯ พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและปฏิรูปธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ อาทิ การปรับโครงสร้างและปรับลดขนาดองค์กร การปรับลดแบบเครื่องบินและเครื่องยนต์ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการต้นทุนในด้านต่างๆ

ซึ่งรวมถึงด้านบุคลากร ด้านฝูงบิน ด้านการซ่อมบำรุงฝูงบินและเครื่องยนต์ การยกระดับขีดความสามารถในการหารายได้โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบบริหารรายได้ การปรับปรุงยุทธศาสตร์การขายบัตรโดยสารโดยมุ่งเน้นการหารายได้บัตรโดยสารจากการเชื่อมต่อเครือข่ายเที่ยวบิน (Network) ซึ่งเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ภาครัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินชั้นนำในระดับนานาชาติ

ตลอดจนการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบิน นำเครื่องบินแบบ A320 จากสายการบินไทยสมายล์เข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทฯ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการบริหารจัดการฝูงบินและผลการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สามารถวางแผนพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบินและเที่ยวบินให้ครอบคลุมรองรับความต้องการของผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img