เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/67 ขยายตัว 2.3% แรงหนุนจากการบริโภคเอกชน-ภาครัฐ-ส่งออก-บริการ ขณะที่การลงทุนหดตัว 2.6% คาดทั้งปีจีดีพีโต 2.5%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาส 2/67 ว่า ขยายตัวได้ 2.3% ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 0.8%
โดยได้รับอานิสงส์จาการบริโภคเอกชนที่ขยายตัว 4% การบริโภคภาครัฐบาลขยายตัวได้ 0.3% การส่งออกที่ขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ 1.9% และบริการ 19.8% แต่การลงทุนรวมยังหดตัวอยู่ 6.2%
ขณะที่จีดีพีภาคเกษตรของไทยในไตรมาสที่ผ่านมาลดลง1.1% เป็นผลมาจากการผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงหลายชนิด ส่วนจีดีพีนอกภาคเกษตรขยายตัวได้ 2.6% จากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว 1.8% และกลุ่มบริการที่ขยายตัวได้ 1.8%
อย่างไรก็ตามการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐยังเป็นไปไม่ตามเป้าหมาย แต่จะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังที่จะเบิกจ่ายได้มากขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา และปีงบประมาณ 68 จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเวลาที่วางไว้ ซึ่งต้องทำให้มีการเบิกจ่ายได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่า จีดีพีไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.3 – 2.8% (ค่ากลาง 2.5%) ซึ่ง สศช. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยครั้งใหม่แคบลงกว่าเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2-3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ดังนี้
- การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
- การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ
- การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจาก
- การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
- การกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก
ทั้งนี้คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และ 0.3% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สรอ. ขยายตัว 2.0% อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.4 – 0.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของ GDP
สำหรับประเด็นที่สภาพัฒน์ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เหลือของปีนี้เช่น
1.เรื่องของหนี้สิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคการเงิน และภาคเงินต้องจับตาสถานการณ์การที่หนี้สินครัวเรือน และหนี้ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่สูงขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ต้องมีมาตรการที่มุ่งเป้ามากขึ้น
2.การปรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงอัตราว่างงานที่สูง
3.การขนส่งที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น
4.การเลือกตั้งสหรัฐฯที่จะมีมาตรการในการกีดกันการค้ามากขึ้น
5.การเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่นำเข้า โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการเฝ้าระวังสินค้าที่คุณภาพต่ำ มีการตรวจสอบคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งต้องมีการออกมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมที่ให้สินค้านั้นมีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเร่งรัดตรวจสอบสินค้านำเข้าผิดกฎหมาย และเลี่ยงภาษีมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือภาคผู้ผลิตเอสเอ็มอีด้วย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายสำคัญในเรื่องของเศรษฐกิจ เนื่องจากการลงทุนของภาคเอกชนยังต่ำ และไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศมีขนาดที่ลดลง ซึ่งต้องสร้างแรงจูงใจในการลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคส่วนของแรงงาน ที่จะต้องตอบโจทย์อุตสาหกรรมใหม่ๆและอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น