สนค.เผยเงินเฟ้อเดือนส.ค.อยู่ที่ 0.35 % ผลจากราคาผักสดและผลไม้สดขยับสูงขึ้น จากน้ำท่วม เฉลี่ย 8 เดือน เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.15 % คาดแนวโน้มเดือนก.ย.ยังสูงขึ้น คงเป้าเงินเฟ้อทั้งปี อยู่ระหว่าง 0.0 – 1.0 % ค่ากลาง 0.5%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนส.ค.67 อยู่ที่ 108.79 หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 0.35% YoY ขณะที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.40-0.48% แต่ชะลอลงจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 0.83% การสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสด ผลไม้สด เนื่องจากปริมาณฝนตกหนัก และมีน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานราคาลดลง เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ทั้งนี้ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 0.15%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนส.ค.67 อยู่ที่ 105.06 หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.62% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 0.44%
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาส 4/2567 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% อยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ 1-3% โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 0-1%
รายการสินค้าและบริการที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือน ก.ค.67 ดังนี้
- สินค้าที่ราคาสูงขึ้น 273 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า, ข้าวสารเหนียว, พริกสด, กับข้าวสำเร็จรูป, นมสด, น้ำมันดีเซล เป็นต้น
- สินค้าที่ราคาคงเดิม 49 รายการ ได้แก่ ชุดนอนเด็ก, ก๊าซหุงต้ม, น้ำประปา, ค่าโดยสารแท็กซี่, นิตยสารรายเดือน เป็นต้น
- สินค้าที่ราคาลดลง 108 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร, ผักชี, กระเทียม, ส้มเขียวหวาน, น้ำยาปรับผ้านุ่ม, แชมพู, แก๊สโซฮอล์ เป็นต้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลล่าสุดเดือนก.ค.67 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำเป็นอันดับ 10 จาก 128 เขตเศรษฐกิจที่มีการรายงานตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจากประเทศที่รายงานตัวเลข
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ย.นี้ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนส.ค.67 โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่
1) ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
2) ผลกระทบจากอุทกภัยทำให้ราคาผักสดและผลไม้สดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกในบางพื้นที่ได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น และ
3) สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดความไม่แน่นอนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งทางเรือปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ได้แก่ 1) ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้าตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ 2) ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบดูไบในปัจจุบันมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ หรืออาจจะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวระดับต่ำ และ 3) การลดราคาสินค้าและการแข่งขันในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกในประเทศ และการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ทำให้สินค้าจำนวนมากปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะปรับรูปแบบการแจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มาเป็นการแจกเงินสดให้แก่กลุ่มเปราะบางในรอบแรกก่อน ภายในเดือนก.ย.นั้น นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การแจกเงินดังกล่าวจะเป็นการช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในการจับจ่ายใช้สอย แต่ไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อแต่อย่างใด
“น่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อมากกว่า ไม่ได้ส่งผลต่อต้นทุนสินค้า ดังนั้นจึงไม่ส่งผลต่อ CPI” ผู้อำนวยการ สนค. กล่าว