วันจันทร์, กันยายน 16, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเตือนเจ้าหนี้'สินมั่นคงประกันภัย'ใช้สิทธิ ยื่นทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีผ่านออนไลน์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เตือนเจ้าหนี้’สินมั่นคงประกันภัย’ใช้สิทธิ ยื่นทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีผ่านออนไลน์

คปภ. ส่งสัญญาณบรรดาเจ้าหนี้ “สินมั่นคงประกันภัย” ที่ถูกสั่งปิดกิจการ ดีเดย์…! วันที่ 9 เดือน 9 ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีผ่านระบบออนไลน์ 24 ชั่วโมง – หมดเขตยื่นคำทวงหนี้ 7 พฤศจิกายน 2567

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งที่ 1364/2567 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) มีคำสั่งที่ 19/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ นั้น

ภายหลังจากมีการแต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ทางกองทุนฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการและจดทะเบียนเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีผลทำให้กิจการของบริษัทเลิกกันนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และไม่อาจประกอบกิจการเป็นผู้รับประกันวินาศภัยได้อีก โดยสภาพนิติบุคคลของบริษัทยังคงมีอยู่เพื่อประโยชน์แก่การชำระบัญชีเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยที่กรมธรรม์ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ยังคงมีความคุ้มครองอยู่กรมธรรม์จะสิ้นสุดความคุ้มครอง เมื่อผู้เอาประกันภัยใช้สิทธิซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่กับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยที่ทำสัญญาไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเป็นไปตามที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยและสำนักงาน คปภ. กำหนด หรือเป็นไปตามที่กองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีประกาศกำหนด

ทั้งนี้ขอประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ได้แก่ เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย เช่น ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยหรือบุคคลภายนอกที่มีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย รวมถึงทายาท ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องหรือรับช่วงสิทธิมาจากบุคคลดังกล่าว และเจ้าหนี้อื่นทั่วไป เช่น หนี้ตามสัญญาจ้างทำของ สัญญาจ้างแรงงาน ดำเนินการยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี สำหรับกรอบระยะเวลาการใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้และวิธีการยื่นคำทวงหนี้นั้น ให้เจ้าหนี้ต้องดำเนินการยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีผ่านระบบคุ้มครองสิทธิเจ้าหนี้ในกรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต (Online) ที่ https://rps-sev.gif.or.th โดยสามารถยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2567 (เริ่มเวลา 08.30 น.) ไปจนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 (สิ้นสุดเวลา 16.30 น.)

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหนี้ประสงค์จะได้รับชำระหนี้จะต้องดำเนินการยื่นคำทวงหนี้ตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนด กรณีที่เจ้าหนี้เคยยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ต่อกรมบังคับคดี ในชั้นกระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย ฯ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เจ้าหนี้ก็ยังคงต้องดำเนินการยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีอีกครั้ง เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามกฎหมายคนละฉบับ หรือในกรณีที่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ แล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ ต้องดำเนินการยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีอีกครั้งเช่นกัน

ทั้งนี้ คปภ. ได้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัยไว้โดยได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่สายด่วน คปภ. 1186 อีกทั้งมีการเพิ่มช่องทางพิเศษให้ประชาชนกดหมายเลข 8 เพื่อเข้าปรึกษากรณีบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ โดยเฉพาะ รวมทั้งจัดทำระบบเสียงอัตโนมัติในส่วนของคำถามที่ประชาชนสอบถามเข้ามาบ่อย ๆ เช่น เอกสารที่ต้องใช้ในการขอรับค่าสินไหมทดแทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารกับประชาชนผ่าน Application LINE คปภ. รอบรู้ โดยจะมีการตอบคำถามในรูปแบบของ Infographic หรือ ประชาชนประสงค์จะสอบถามข้อมูลโดยตรงจากเจ้าหน้าที่ก็สามารถทำได้เช่นกัน

นอกจากนี้ มีการจัดทำข้อมูลเพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการคีย์ข้อมูลขอรับชำระหนี้ผ่านสำนักงาน คปภ. ภาค สำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ สำหรับการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัทจึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img