“พิชัย” เตรียมนัดผู้ว่าแบงก์ชาติถกเงินเฟ้ออีกรอบ หลังผลหารือในวันนี้เงินเฟ้อหลุดกรอบล่างจากเป้าหมายที่วางไว้ 1-3% เร่งหามาตรการให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ได้ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 4 ปีนี้ จะอยู่ที่ 1% คาดว่าทั้งปี 2567 เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะหลุดกรอบล่างของเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1-3% ดังนั้นจะสนัดหารือกันอีกครั้งในเดือนต.ค.นี้ เพื่อหาข้อสรุปว่าเมื่อทิศทางของเงินเฟ้อออกมาเช่นนี้แล้ว จะมีแนวทางในการทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างไร
โดยวันนี้กระทรวงการคลังและธปท. มีการเห็นภาพที่ตรงกันมากขึ้น และเชื่อว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ทางกนง.จะนำภาพข้อมูลเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาคุยกันอย่างละเอียดมากขึ้น เช่น เรื่องลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) การปรับนโยบายการเงินของยุโรป และการออกมาตรการต่างๆในจีน เพื่อตัดสินใจในเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย เพราะ 3 เรื่องดังลก่าวมีผลต่อเงินที่ไหลเข้ามาและมีผลต่อค่าเงินบาท แม้ในเวลานี้เริ่มอ่อนค่าลงมาบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินบาทแข็งค่า เชื่อว่าไม่กระทบกับปริมาณการส่งออก และคาดว่าการส่งออกในไตรมาส 4 ปีนี้จะดีขึ้น เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว
สำหรับดอกเบี้ยหากลดลงก็จะเป็นผลดีกับคนกู้ที่มีความสามารถในการกู้ และเรื่องการเข้าถึงเงินทุนสำคัญกว่า ส่วนกนง.จะตัดสินใจอย่างไรขึ้นกับกนง.เพราะหากลดก็ต้องตอบให้ได้ว่าลดเพราะอะไร หรือหากไม่ลดก็ต้องตอบว่าเพราะอะไร โดยรัฐบาลมองว่าการลดดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่ ธปท.ก็มีเครื่องมืออื่นอีกหลายอย่างด้วยที่จะนำมาทำได้ ซึ่งคลังและธปท.เห็นตรงกันว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องสภาพคล่อง แต่เป็นการปล่อยกู้ที่สถาบันการเงินมีความกังวล
นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือน โดยเบื้องต้นจะแบ่งการดำเนินการออกเป็นกลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังมีโอกาสเดินไปได้ ยังมีความสามารถในการจ่ายหนี้ได้ ส่วนนี้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ โดยการร่วมมือกันระหว่างสถาบันการเงินกับคลังที่จะเข้ามาดูแล หลัก ๆ คือ จะไม่ลดหนี้ให้แบบไม่มีเหตุผล เพราะจะกลายเป็นปัญหา Moral Hazard ส่วนรายละเอียดจะต้องมีการหารือกันเพิ่มเติมอีก และอีกกลุ่ม คือ กลุ่มเปราะบาง ที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ส่วนใหญ่มีมูลหนี้ไม่มาก แต่มีสถานะทั้งที่เป็นหนี้เสีย ติดเครดิตบูโร และอื่น ๆ มีจำนวนกว่า 7-8 แสนบัญชี ตรงนี้ต้องมาดูในรายละเอียด และต้องขอความร่วมมือกับสถาบันการเงิน คลัง และ ธปท. ที่จะเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่