‘พิธา’ ลัดฟ้าถึงเมืองอุดรธานี ลุยหาเสียงชิงเก้าอี้ นายก อบจ. เมิน ‘ทักษิณ’ เย้ยกลัวแพ้ เตือนความจำ อย่าลืมผลเลือกตั้งปี 2566 ‘ก้าวไกล-ไทยสร้างไทย’ รวมกันชนะ ‘เพื่อไทย’ ลั่น นี่ไม่ใช่ ‘เมืองหลวงเสื้อแดง’ แต่คือ ‘เมืองหลวงประชาธิปไตย’ รับแพ้มาเยอะ แต่ก็ชนะมาแยะ แจงป้ายหาเสียง มีทั้งทิมทั้งเท้ง เป็นแคมเปญเลือกตั้งลูกครึ่ง เหตุโดนยุบพรรค
วันที่ 15 พ.ย.67 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัคร นายกอบจ.อุดร จากพรรคประชาชน เดินทางถึงจังหวัดอุดรธานี หลังกลับมาจากสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้สมัคร และผู้สนับสนุนเดินทางมาให้การต้อนรับ ขอถ่ายรูปจำนวนมาก
นายพิธา กล่าวว่า เดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ ตั้งใจมาช่วยหาเสียง เพื่อให้คนอุดรทราบว่าจะมีการเลือกตั้ง นายก อบจ.อุดร โดยประเด็นหลักที่อยากสื่อสาร คือ การเชิญชวนให้มาใช้สิทธิ์กันเยอะๆ เพราะตนทราบว่าอุดรคือเมืองหลวงของประชาธิปไตย แต่การใช้สิทธิ์อาจจะน้อย เพราะพี่น้องชาวอุดรธานี ไปทำงานต่างประเทศเยอะ ที่ผ่านมาในการเลือกตั้งปี 66 การเลือกตั้ง อบจ.มีเปอร์เซนต์แค่ 50 ต้นๆ หรือ 60 ต้นๆ เท่านั้น ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย ก็พยายามเชิญชวนให้มาใช้สิทธิ์เยอะๆ
ส่วนที่บางพรรคระบุว่า อุดรธานีเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง นายพิธา กล่าวว่า ถ้าดูตัวเลขจากการเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทยมาอันดับหนึ่ง 300,000 แสนกว่าคะแนน พรรคก้าวไกลมาอันดับสอง 200,000 แสนกว่าคะแนน พรรคไทยสร้างไทยอันดับสาม 100,000 กว่าคะแนน ถ้า 2 กับ 3 รวมกัน ก็ชนะพรรคเพื่อไทย และที่ตนตอบคำถามเมื่อสักครู่ ก็ใช้คำว่า ‘เมืองหลวงประชาธิปไตย’ ไม่ใช่ ‘เมืองหลวงเสื้อแดง’ เพราะตัวเลขก็ฟ้องมาอย่างนั้น
ส่วนที่นายทักษิณ ปราศรัยเย้ยว่า นายพิธา กลัวแพ้จึงต้องบินกลับมาจากสหรัฐ นายพิธา กล่าวว่า เรื่องนี้มี 2 ประเด็น เรื่องกลัวแพ้ก็แพ้มาเยอะ ชนะมาก็แยะ อุดรเขต 1 ตอนปี 2562 ตอนเป็นอนาคตใหม่ก็แพ้ พอปี 2566 เป็นพรรคก้าวไกล ก็ชนะผู้สมัคร นายก อบจ.คนปัจจุบันของพรรคเพื่อไทยด้วย เพราะฉะนั้นมีแต่เผด็จการเท่านั้นที่กลัวแพ้การเลือกตั้ง
“การเป็นนักการเมืองและการเป็นอดีตนักการเมือง ก็มีแพ้มีชนะเป็นเรื่องธรรมดา อย่างกรณีที่ผมกลับมาจากอเมริกาที่เคยแพ้ก็ชนะ ที่เคยชนะก็กลับมาแพ้ นี่คือความสวยงามของประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นไอ้เรื่องแพ้ แพ้เยอะมาแล้ว แต่การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายผมก็ชนะ”
ส่วนที่มีการแซวว่าติดป้ายหาเสียง ผู้สมัครคู่ทั้งทิมทั้งเท้ง แสดงว่า คุณเท้งไม่หล่อเท่าคุณทิม นายพิธา กล่าวว่า เท่าที่เช็คจากทีมงานของผู้สมัคร อัตราส่วนการติดป้ายของหมายเลข 1 กับหมายเลข 2 น่าจะ 20 ต่อ 1 เพราะฉะนั้นเรื่องความประหยัด พรรคตนในตอนที่เป็นอดีตพรรคก้าวไกล และจนมาเป็นพรรคประชาชนไม่แพ้พรรคไหนแน่นอน และแคมเปญนี้เป็นแคมเปญลูกครึ่ง เพราะหาเสียงกับนายคณิศร ตั้งแต่ยังเป็นพรรคก้าวไกล จึงมีการทำป้าย แต่พอโดนยุบพรรคก็กลายเป็นของพรรคประชาชน กลายเป็นลูกครึ่ง มีทั้งรูปคู่กับตน และรูปคู่กับเท้ง ก็แค่นั้น
ส่วนการลงพื้นที่ด้วยตัวเองของนายทักษิณ กังวลหรือไม่นั้น นายพิธากล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวล รู้สึกดี เพราะทำให้มีสีสัน ทำให้ประชาชนมีความสนใจ เพราะในการเลือกตั้งระดับชาติก็มีกติกาหนึ่ง มีเลือกตั้งล่วงหน้า มีเลือกตั้งข้ามเขต ประชาชนให้ความสนใจ แต่เมื่อเป็นการเลือกตั้ง สส.หรือ อบจ.แค่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ก็อาจจะไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์จาก กกต.เท่าที่ควร ถ้ามีการแข่งขันของเบอร์ 1 เบอร์ 2 มีการลงพื้นที่กันเยอะ ประชันวิสัยทัศน์กันเยอะ ก็ทำให้ประชาชนสนใจ และหวังว่าการจะทำให้การใช้สิทธิ์ครั้งนี้สูงกว่า 56% เพราะครั้งที่แล้วก็เกินครึ่งมานิดเดียว
ส่วนการที่นายใหญ่ของพรรคต้องลงมาเอง มีนัยต่อการเลือกตั้ง นายก อบจ.ครั้งนี้หรือไม่ นายพิธากล่าวว่าก็เห็นสื่อมวลชนวิจารณ์กันไป แต่ตนไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่า สัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง แต่การที่สื่อวิเคราะห์หรือมีการสัมภาษณ์นักวิชาการ รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ตนไม่แน่ใจว่าเขารู้สึกอย่างไร
แต่การทำงานของพรรคประชาชน หรือพรรคก้าวไกล เวลามองการเลือกตั้ง เรามอง 2-3 การเลือกตั้งล่วงหน้า ถ้าคิดแบบนั้นจะมีแต่ชนะ พัฒนา ไม่มีแพ้ เราแข่งกับตัวเองในครั้งที่แล้ว ตั้งแต่อนาคตใหม่ ก้าวไกล แน่นอนว่าในการเลือกตั้งต้องแข่งกับคู่แข่ง แต่ในการทำงานของพรรคเรา แข่งกับตัวเองในครั้งที่ผ่านมา ถ้าคิดแบบนี้ จะทำงานอย่างไม่กดดัน และทุกการเลือกตั้งเป็นโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลง การพัฒนาบุคคล และองค์กร หลายคนตอนเลือกตั้งอนาคตใหม่ วางแผนการเดินหาเสียงไม่เป็น ทุกวันนี้เก่งมาก ก็มีการพัฒนาในทุกการแข่งขัน ไม่ได้รู้สึกกดดันมากเป็นพิเศษ
ส่วนสนามเลือกตั้ง อบจ.เป็นโจทย์ยากหรือไม่เพราะต้องทลายกำแพงบ้านใหญ่ ที่เดิมเป็นสีแดงเกือบทั้งจังหวัด นายพิธากล่าวว่า เป็นโจทย์ยากที่บริหารได้ อย่างน้อยเราทราบว่าในการเลือกตั้ง ปี 2566 คนมาใช้สิทธิ์ 76% พอเลือกตั้ง อบจ.เหลือแค่ 60% เพราะข้ามเขตไม่ได้ เลือกตั้งล่วงหน้าไม่ได้ จึงต้องทำนโยบายในพื้นที่ให้จับต้องได้ มีความชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกัน พอตนกลับจากสหรัฐอเมริกา เห็นเรื่องการเลือกตั้งก็มองว่าน่าจะมีการเลือกตั้งด้วยจดหมายแบบ เมลล์อิน เหมือนเลือกตั้งสหรัฐฯ จะได้ทำให้การเลือกตั้งง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตรงกับเจตจำนงของประชาชนมากขึ้น ต้องแก้ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งระดับชาติแต่รวมถึงเลือกตั้งอื่นๆ น่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้น
ส่วนหากพรรคประชาชนจะชนะ จะมาจากปัจจัยใดนั้น นายพิธา กล่าวว่า มาจากหลายเรื่อง ทั้งตัวผู้สมัครและคู่แข่งก็มีความสำคัญ รวมถึงนโยบายตรงใจประชาชนแค่ไหน แต่ตนยังยืนยันในความสำคัญของผู้มาใช้สิทธิ์ หากเกิน 70% ก็ทำให้เกิดความชอบธรรมและมีโอกาสชนะมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันถ้าใช้สิทธิ์น้อยก็น่าจะยาก
ส่วนที่นายทักษิณ ประกาศว่า สมัยหน้าจะคว้า เก้าอี้ สส. ไม่น้อยกว่า 200 ถือเป็นการข่มขวัญหรือไม่นั้น นายพิธา กล่าวว่า ก็เหมือนตอนนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยพูดเรื่องแลนด์สไลด์ ก็แค่นั้น พอถึงเวลา ผลลัพธ์หลังเลือกตั้งประชาชนเป็นคนตัดสิน วางแผนได้ ทางตนก็มี เคยวางไว้ตอนเป็นอดีตก้าวไกล เชื่อว่านายณัฐพงษ์ ก็คงวางแผนของตัวเองเช่นกัน ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน
ในช่วงท้ายนายพิธา ยังอ้อนคนอุดร ขอคะแนนเสียงให้ผู้สมัคร โดยระบุว่า “ฮักหลายๆ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีไทยสำคัญขนาดไหน เช่นตอนสงกรานต์ ผมก็อยู่อุดร ลอยกระทงผมก็ยังอยู่ แสดงให้เห็นความผูกพันที่มีต่อพี่น้องชาวอุดร หวังว่าศุกร์เสาร์อาทิตย์นี้จะมีโอกาสมาพบปะกันให้หายคิดถึง”
อย่างไรก็ตาม เย็นวันนี้นายพิธา ได้ยกเลิกภารกิจลอยกระทงร่วมกับคนอุดร เปลี่ยนเป็นเดินพบประชาชนบริเวณถนนคนเดินแทน เนื่องจากเกรงจะผิดกฎหมายเลือกตั้งใน เรื่องห้ามจัดมหรสพ