“จุลพันธ์”นัดหน่วยงานถกทวนเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อวางหลักเกณฑ์-เงื่อนไขใหม่ เตรียมเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ มี.ค. 68
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันนี้ (21 พ.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อทบทวนรายละเอียด และเกณฑ์การลงทะเบียนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เบื้องต้น ตนจะสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปดูเกณฑ์ต่างๆ ว่ามีอะไรที่ต้องปรับปรุงหรือไม่ เช่น เรื่องที่ดิน ที่ยังมีปัญหา เป็นต้น
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ คงไม่ได้สรุปจบในครั้งเดียว อาจจะมีการประชุมต่อเนื่อง และเรื่องนี้ไม่ได้รีบร้อนอะไร เพราะการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ คือช่วงเดือนมี.ค.68
รายงานข่าวแจ้งว่า การเปิดลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ล่าสุด คือเมื่อวันที่ 5 ก.ย.- 31 ต.ค. 65 เพื่อเป็นการทบทวนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการใหม่
ทั้งนี้ตามโครงการเดิมเมื่อปี 60-61 มีผู้ได้รับสิทธิประมาณ 14.9 ล้านคน ส่วนปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิ ประมาณ 13.5 ล้านคน โดยสาเหตุที่จำนวนลดลงนั้น เนื่องจากผู้มีสิทธิเสียชีวิต
ส่วนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ เพิ่มการตรวจสอบคุณสมบัติของครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องรายได้ เช่น กรณีผู้ลงทะเบียน เป็นแม่บ้าน ไม่มีรายได้จากการทำงาน แต่หากสามีมีรายได้หรือทรัพย์สินที่สามารถดูแลได้ทั้งครัวเรือน โดยนำรายได้มาหารเฉลี่ยในต่อหัวของคนในครอบครัวแล้ว ยังเกินเส้นที่กระทรวงการคลังตั้งขึ้น รายได้ 1 แสนบาทต่อคนต่อปี ผู้ลงทะเบียนที่เป็นแม่บ้านก็จะไม่ผ่านเกณฑ์
ทั้งนี้ คุณสมบัติบุคคลที่ลงทะเบียนยังคงเดิม คือ
- ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
- อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- ต้องไม่เป็นภิกษุ สามเณร ผู้ต้องขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญ ข้าราชการการเมือง รวมถึง สส. และ สว ด้วย
- มีรายได้คนละไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และภายในครอบครัว มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
- ทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝาก พันธบัตร ตราสารหนี้ต่าง ๆ ต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปีเช่นเดียวกัน
- ไม่มีวงเงินกู้เกินที่กำหนด ดังนั้น กรณีสินเชื่อบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาทขึ้นไป กรณีสินเชื่อรถยนต์ ไม่เกิน 1 ล้านบาท
- ไม่มีบัตรเครดิต
- ต้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือที่ดิน เกินจากเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด