“ลวรณ” เผยคลังร่วมมือสถาบันการเงินของรัฐ ปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายน้ำท่วม มูลหนี้ 9.4 หมื่นล้าน
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และการดำเนินธุรกิจของประชาชนเป็นอย่างมาก กระทรวงการคลังจึงร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
โดยออกมาตรการด้านการเงินเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวัน ประกอบอาชีพ และประกอบธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามกลุ่มเป้าหมาย ทั้งมาตรการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ย รวมไปถึงมาตรการสินเชื่อซอฟต์โลนซึ่งทำให้ดอกเบี้ยต่ำลง 3-4%”
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้จัดสรรวงเงิน 50,000 ล้านบาท จาก โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสิน เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับมาฟื้นฟูกิจการ เพื่อประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจได้ต่อไปภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567
โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการเสริมสภาพคล่อง สำหรับผู้ประสบอุทกภัย ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย รวมทั้ง บสย. ยังได้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind วงเงินค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลนเพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านบาท หากมีการขอเต็มวงเงินแล้ว
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบน้ำท่วม อย่างเร่งด่วนในตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นจำนวนมากกว่า 740,000 ราย รวมยอดหนี้มากกว่า 94,000 ล้านบาท
อย่างไตก็ตาม มาตรการการดำเนินมาตรการด้านการเงินในระยะต่อไปจะเป็นการเน้นการเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการฟื้นฟูและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ประชาชนสามารถกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยกระทรวงการคลังจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงทีและเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป