วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 12, 2024
หน้าแรกHighlight“ประยุทธ์”ยอมถอนร่าง“ก.ม.สกัดปฏิวัติ” หลังหลายพรรคการเมืองค้านไม่เอาด้วย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ประยุทธ์”ยอมถอนร่าง“ก.ม.สกัดปฏิวัติ” หลังหลายพรรคการเมืองค้านไม่เอาด้วย

“ประยุทธ์” จ่อถอนร่าง “กม.สกัดปฏิวัติ” ปัดพัลวันไม่มีแนวคิดแทรกแซงกองทัพ ยอมถอยพรรคการเมืองไม่เอาด้วย

วันที่ 10 ธ.ค.2567 นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเสียงคัดค้านร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม มีเนื้อหาให้อำนาจครม.พิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล เพื่อสกัดการรัฐประหารว่า จากการรับฟังความเห็นของประชาชนในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ตามมาตรา77 ของรัฐธรรมนูญ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีเสียงคัดค้านจำนวนมาก ดังนั้นในวันที่ 12ธ.ค.ที่มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการประชุมพรรคเพื่อไทยในช่วงเช้า จะเสนอต่อพรรค เพื่อขอถอนร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม กลับไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ ถ้าพรรคอนุญาตจะไปขอถอนร่างต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันเดียวกันทันที เพราะเป็นกฎหมายที่ตนและคณะเป็นผู้เสนอในนามส่วนตัว ไม่ใช่ความเห็นพรรคเพื่อไทย ในการรับฟังความเห็นของประชาชนตามมาตรา77  ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ก็ไม่สามารถบรรจุวาระเข้าสภาฯได้ ส่วนจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ขอรอดูความเห็นประชาชน ที่จะสิ้นสุดการรับฟังความเห็นตามมาตรา77 ในวันที่ 1ม.ค.2568 ก่อน

เมื่อถามว่า จะทบทวนกรณีให้ครม.มีส่วนร่วมการแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลหรือไม่ เพราะถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงกองทัพ นายประยุทธ์ กล่าวว่า ขอรอฟังความเห็นประชาชนให้สิ้นสุดก่อน ถึงจะรู้ต้องแก้ไขประเด็นใดบ้าง ถ้าสังคมมองว่า ครม.ควรถอยก็ต้องรับฟัง ดันทุรังไปแล้ว ก็เสนอกฎหมายไม่ได้อยู่ดี ยืนยันกฎหมายดังกล่าวไม่ได้แทรกแซงกองทัพ เนื้อหาร่างพ.ร.บ.ที่ให้ครม.มีส่วนร่วมพิจารณาแต่งตั้งนายพล ไม่ได้แทรกแซงกองทัพ การเสนอแต่งตั้งทหารระดับนายพลจะดำเนินการโดยคณะกรรมการของส่วนราชการนั้นๆเป็นผู้เสนอชื่อนายพลตามหลักเกณฑ์กระทรวงกลาโหม จากนั้นจึงจะเสนอให้ครม.พิจารณา ทุกอย่างมีระเบียบกระทรวงกลาโหมควบคุมขั้นตอนแต่งตั้ง ไม่ใช่ครม.แต่งตั้งเอง หรือกรณีการกำหนดให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของครม. มีอำนาจสั่งให้นายทหารยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวได้ หากกระทำการนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อสกัดการรัฐประหารนั้น ก็ไม่ใช่ปมด้อยกฎหมายฉบับนี้ แต่เป็นการใช้อำนาจยับยั้งการรัฐประหาร เหมือนที่สส.เกาหลีใต้ ใช้อำนาจยับยั้งการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี หลายประเทศมีมาตรการเข้มข้นสกัดการยึดอำนาจ อย่างไรก็ตามเมื่อมีเสียงคัดค้านมาก ก็ต้องนำมาปรับปรุง จากที่หวังไว้ 100% ถ้าได้มาสัก 30-50% ก็คงพอใจแล้ว แต่คงไปสุดซอยไม่ได้แล้ว

เมื่อถามว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่เอาด้วยกับร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม มองว่าแค่การเมืองไม่โกง ก็ไม่เกิดรับประหาร  นายประยุทธ์ กล่าวว่า เรามีเจตนาอยากให้พรรคการเมืองได้มีบทบาทในการร่วมสกัดรัฐประหาร  แต่เมื่อพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย ก็ต้องนำมาทบทวนใหม่ การที่หลายส่วนมองว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถสกัดการยึดอำนาจได้ เป็นความเห็นแต่ละคน ส่วนตัวมองว่า ช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง เหมือนที่เกาหลีใต้ ที่ให้สภาฯมีส่วนร่วมการยับยั้งการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

เมื่อถามว่า เกรงว่า การเดินหน้าเสนอกฎหมายฉบับนี้ จะสร้างความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับกองทัพหรือไม่ นายประยุทธ์ตอบว่า ไม่ได้กลัวขัดแย้งกับกองทัพ แต่ต้องเคารพเสียงของสังคม ถ้าสังคมไม่เอาด้วย ต้องนำกลับมาทบทวนใหม่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img