พาณิชย์เผยผลสำรวจประชาชนเกี่ยวกับแผนท่องเที่ยวปลายปีส่วนใหญ่ปรับแผนเที่ยว เน้นใช้จ่ายในงบประหยัด ภาคเหนือฮอตคนแห่เที่ยว อากาศเย็นสบาย -ธรรมชาติ-ภูมิทัศน์สวยงาม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 จำนวน 5,669 ราย ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวไทยปลายปี 2567 ผลการสำรวจพบว่า ประชาชน ที่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567 มีสัดส่วนค่อนข้างทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลการสำรวจของปี 2566 โดยภาคเหนือยังเป็นจุดมุ่งหมายหลักที่ประชาชนวางแผนไปท่องเที่ยว ทั้งนี้ ปัญหาทางการเงินและค่าใช้จ่ายยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการแผนการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจ ดังนี้
- พฤติกรรมและแผนการท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567
ภาพรวมของการสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 32.28 มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567 ซึ่งค่อนข้างทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากผลสำรวจปี 2566 (ร้อยละ 32.19) โดยภาคเหนือยังคงเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมสูงเช่นเดิม อาจเนื่องด้วยเป็นช่วงที่อากาศเย็นสบาย ธรรมชาติและภูมิทัศน์สวยงาม รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ สำหรับสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 67.72 ที่ไม่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินซึ่งเป็นเหตุผลที่มีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 38.55 และตามมาด้วยความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงร้อยละ 32.12
เมื่อพิจารณาการจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า กลุ่มผู้ไม่ได้ประกอบอาชีพและเกษียณอายุสัดส่วนการวางแผนท่องเที่ยวมากที่สุดที่ร้อยละ 46.40 อาจเนื่องมาจากประชาชนกลุ่มนี้ไม่ถูกจำกัดด้วยภาระ หน้าที่การงาน ทำให้สามารถวางแผนและเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวก รองลงมาคือ กลุ่มนักธุรกิจและเจ้าของกิจการที่ร้อยละ 42.52 สำหรับกลุ่มพนักงานบริษัทมีสัดส่วนการวางแผนท่องเที่ยวน้อยที่สุดที่ร้อยละ 17.54 การจำแนกตามรายได้ต่อเดือน พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้มากกว่า 40,000 – 50,000 บาท มีสัดส่วนการวางแผนท่องเที่ยวมากที่สุดที่ร้อยละ 48.77
ตามมาด้วยกลุ่มผู้มีรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป ที่ร้อยละ 45.00 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง จึงสามารถจัดสรรงบประมาณสำหรับการท่องเที่ยวได้มากกว่ากลุ่มรายได้อื่น
ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ 5,001 – 10,000 บาท มีสัดส่วนการวางแผนท่องเที่ยวในช่วงเดือนดังกล่าวน้อยที่สุดที่ร้อยละ 25.95 และการจำแนกตามภูมิภาค พบว่าผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นผู้มีสัดส่วนวางแผน
การท่องเที่ยวมากที่สุดที่ร้อยละ 40.87 รองลงมาคือ ผู้อาศัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ร้อยละ 34.88
ขณะที่ผู้อาศัยในเขตภาคกลางมีสัดส่วนการวางแผนการท่องเที่ยวน้อยที่สุดที่ร้อยละ 27.14
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลสำรวจจากภูมิภาคต่าง ๆ พบว่า ผู้อาศัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือมีสัดส่วนการท่องเที่ยวในเขตภูมิภาคที่ตนเองอาศัยอยู่มากที่สุด มีเพียงกลุ่มผู้อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคกลางที่มีสัดส่วนการวางแผนการท่องเที่ยวนอกเขตภูมิภาคที่ตนเองอาศัยอยู่ โดยกิจกรรมการท่องเที่ยว
ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ การท่องเที่ยวธรรมชาติ ผจญภัย และกีฬา ซึ่งเป็นที่นิยมในเกือบทุกกลุ่มอายุ อาชีพ รายได้ และภูมิภาค โดยคิดเป็นร้อยละ 56.67 รองลงมาคือ การท่องเที่ยวร้านกาแฟและร้านอาหารยอดฮิต ที่ร้อยละ 48.14 โดยกิจกรรมนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มอายุต่ำกว่า 39 ปี และกลุ่มผู้อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีผู้ตอบเกินครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการวางแผนการท่องเที่ยว ประชาชนยังมีปัจจัยที่กังวลอยู่หลายประการ โดยความกังวลด้านความปลอดภัยและอุบัติเหตุเป็นปัจจัยหลักที่มีสัดส่วนสูงที่ร้อยละ 51.48 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่าง มีนัยสำคัญจากการสำรวจในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (ร้อยละ 30.85) โดยเฉพาะในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีความกังวลในเรื่องนี้สูงถึงร้อยละ 71.05 นอกจากนี้ ประชาชนยังมีความกังวลในเรื่องความแออัดของสถานที่ท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 50.00 และกังวลด้านการจราจรที่ร้อยละ 47.49
- การคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2567
ในภาพรวม ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 44.59 คาดว่าจะใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 5,001 – 10,000 บาท/คน/ทริป เพื่อเป็นค่าเดินทาง อาหาร และที่พัก โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจของปีก่อน
(ปี 2566 ร้อยละ 42.07) รองลงมาคือ ใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 31.79 (ปี 2566 ร้อยละ 24.71) และ
ใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 10,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 19.54 (ปี 2566 ร้อยละ 30.02) ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประชาชนมีแผนการใช้จ่ายลดลงในวงเงินที่สูง สะท้อนถึงการปรับตัวและการควบคุมงบประมาณที่มากขึ้น สำหรับประเภทของค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คิดเป็นร้อยละ 71.64 รองลงมาคือค่าอาหาร คิดเป็นร้อยละ 70.71 และค่าที่พักคิดเป็นร้อยละ 62.35 ตามลำดับ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แม้ประชาชนจะมีความกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจสถานะทางการเงิน และภาระค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2567 คาดว่า จะยังคงมีบรรยากาศที่คึกคักทั่วทุกภูมิภาค โดยภาครัฐได้มีการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริม ให้การท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือที่ได้รับความนิยมสูง อาทิ โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง
ดังนั้น หน่วยงานและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องควรเตรียมแนวทางและความพร้อมในการรับมืออย่างเข้มข้น พร้อมทั้งดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย เพื่อบรรเทาความกังวลของประชาชนในการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2567 ภาครัฐได้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการเพิ่มความปลอดภัยทางท้องถนน เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางท้องถนน และมาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเที่ยวบินให้เพียงพอกับความต้องการในการเดินทาง และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเพื่อจะกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดของขวัญปีใหม่ ปี 2568 ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานพาณิชย์ลดราคา “New Year Mega Sale 2025” งานลดราคาสินค้าส่งออก “Made in Thailand” การมอบส่วนลดแพ็กเกจแฟรนไชส์ การแจกส่วนลดราคาสินค้าผ่าน 4 แพลตฟอร์มออนไลน์ และการจัดงานแสดงและจุดจำหน่ายสินค้าในส่วนภูมิภาคกว่า 300 จุดทั่วประเทศ เป็นต้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยคาดว่ากิจกรรมดังกล่าวจะสามารถขยายโอกาสและสร้างมูลค่าทางการค้าไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในภูมิภาคต่าง ๆ