‘เพื่อไทย’ โพสต์เดือด! อย่าไปหลงคารม ‘อีแอบ’ ล็อกโหวตประชามติ ‘สองชั้น’ ลั่น อดทนรอ 180 วัน เพื่อ รธน.ใหม่ของประชาชน แซะอีแอบ ‘รัฐบาลต้องลงเรือลำเดียวกัน’
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.พรรคเพื่อไทย ได้มีการโพสต์ข้อความระบุว่า
“สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเสียงข้างมากยืนยัน “โหวตลงมติเสียงข้างมากชั้นเดียว” สส.ยอมรอ 180 วันตามขั้นตอน เพื่อยืนยันมติก่อนประกาศใช้
ย้ำ! อย่าไปหลงคารม “อีแอบ” ที่ล็อกโหวตสองชั้น อดทนรอเพื่อให้คนไทยใช้สิทธิประชาธิปไตยสร้างอนาคตที่ดีกว่า
สส.เพื่อไทย นำโดย นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรค นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี, นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ, นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรค,นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ, นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ, นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส. บัญชีรายชื่อ ร่วมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยลงมติยืนยันการลงมติของสภาฯ ในวาระ 3 ที่ให้โหวตเสียงข้างมากปกติ
[ประชามติคือกุญแจไขประตูสู่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่]
นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคฯ อภิปรายว่ากฎหมายประชามติ จะเป็น “กุญแจ” ดอกสำคัญ ในมือคนไทยทุกคน ที่จะไขประตูบานใหญ่ นำพาประเทศก้าวเข้าสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นภารกิจที่มีเป้าหมายพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของคนไทยและต่างชาติ พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วยกับระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น แปลกแยกไปจากระบบอื่น ไม่เห็นความจำเป็นใด เพราะมีความยุ่งยาก และกีดกันเสียงที่แท้จริงของประชาชนผู้ทรงสิทธิและอำนาจอธิปไตยสูงสุดในระบอบประชาธิปไตย คือการใช้เสียงข้างมากปกติโดยตรงอยู่แล้ว
[สนับสนุนเสียงข้างมาก 2 ชั้น คือการขัดขวางรัฐธรรมนูญ]
“ใครยังคิดสนับสนุนหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะถูกครหาหรือไม่ว่า ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญที่คนไทยและนานาประเทศเห็นว่าฉบับปี 2560 เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาการเมืองไทยในระยะยาว
ขอเรียกร้องเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ยืนยันตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดิฉันจะขอเป็นผู้แทนอีกคนหนึ่ง ที่ส่งต่อกุญแจดอกที่สมบูรณ์ ให้ถึงมือพี่น้องประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ได้ใช้สิทธิออกเสียงประชามติ เพื่อกฎหมายสำคัญของประเทศ และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ตลอดจนอนาคตที่ดีกว่าสำหรับคนไทยทุกคน” รองเลขาธิการพรรคฯ กล่าว
[แก้รัฐธรรมนูญ ให้กลับมาเป็นประชาธิปไตย]
นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี กล่าวยืนยันว่า ข้อยุติของการออกเสียงประชามติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้กติกาเสียงข้างมาก 1 ชั้น และเป็นเรื่องง่ายสำหรับพี่น้องประชาชนที่จะมาลงคะแนนเสียงประชามติ เอาคะแนนเสียงข้างมากมาตัดสิน ก็เพียงพอแล้ว เป็นการเคารพเสียงของพี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง เพราะจำนวนเสียงเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือเจตจำนงที่แท้จริงของพี่น้องประชาชนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่เราหาเสียงและบอกกับพี่น้องประชาชนว่าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้กลับมาเป็นประชาธิปไตยสักครึ่งใบก็ยังดี
[สภาเป็นที่แก้ไข ไม่ใช่ที่ถ่วงความเจริญของประชาธิปไตย]
นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ตอนที่ฉีกรัฐธรรมนูญทำง่ายแสนง่าย เอาแค่คน 4-5 คนมานั่ง แล้วเขาก็สร้างประติมากรรมคือรัฐธรรมนูญปี 60 ที่มีปัญหา เพราะเวลาจะแก้ไขก็ยากยิ่ง ยากจริง ยากเกินไป กฎหมายทุกฉบับแก้ไขได้ รัฐธรรมนูญก็ต้องแก้ไขได้ ที่สุดแล้วถ้า สส. และ สว. เห็นไม่ตรงกัน อำนาจสูงสุดที่เขาให้ไว้ที่รากแก้ว คือสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมีความขัดแย้งกัน แก้ไขได้แน่นอน คือยืนยันตามสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสภาตัดสิน
“การพูดในวันนี้พูดด้วยน้ำตา พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แถลงนโยบายด้วยกัน ต้องปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ ผมประกาศชัดเจนให้ประชาชนแจ้งว่า ศัตรูของประชาธิปไตยคือใคร จึงอยากเรียกร้องเห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมือง ท่านกรรมาธิการร่วม หรือแม้แต่ สส.ที่กลับลำในสภาสูง กลับใจแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยกัน ที่นี่เป็นที่แก้ไข ไม่ใช่ที่ถ่วงความเจริญของประชาธิปไตย ใครคนใดไม่แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือถ่วงความเจริญ ผมถือว่าคนนั้นทำลายประชาธิปไตย” นายอดิศรกล่าว
[รธน.ปี 60 ก็ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว]
นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรคอภิปรายว่า ในหลักการใช้เสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถบังคับให้ใครออกมาใช้สิทธิ์ของตนเองได้ แต่เมื่อมีการลงคะแนนเรื่องใดก็ตามเพื่อกำหนดทิศทางความเป็นไปของประเทศ ผู้ที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ของตน ก็ต้องยอมรับผลลัพธ์ของการโหวตที่ออกมา แม้ตนเองจะสละสิทธิ์ในการไปลงคะแนนเสียงก็ตาม การยอมให้เสียงของผู้ที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ มากำหนดผลของทำประชามติ เป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง
เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านประชามติมาได้ด้วยเกณฑ์ที่กำหนดให้ “ใช้เสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว” แล้วทำไมเมื่อประชาชนต้องการจะยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และ ต้องการให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ “เกณฑ์ข้างมากถึงสองชั้น” เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง
[ประชามติที่ใช้เสียงข้างมากสองชั้น ทางออกประเทศจะไม่มั่นคง]
นางสาวขัตติยา กล่าวต่อว่า กฏหมายประชามติ คือเครื่องมือในการรับฟังเสียงประชาชนในประเด็นที่สำคัญของประเทศ และคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางความเป็นไปของบ้านเมืองด้วยตนเอง ประชามติจึงถือเป็น “เครื่องมือของประชาธิปไตยทางตรง” ที่มีความสำคัญมากในเวลาที่ประเทศชาติเผชิญความขัดแย้งจนเดินไปถึงทางตัน
“การปล่อยให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยังคงใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นต่อไป จะทำให้เครื่องมือในการหาทางออกที่สำคัญของประเทศตกอยู่ในสถานะที่ไม่มั่นคง” รองโฆษกพรรค กล่าว
[ถ้าเชื่อ “อีแอบ” ชาติหน้าก็ไม่ต้องแก้ รธน.]
นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่าตลอดเวลาในช่วงหาเสียงจนจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ทุกพรรคการเมือง ต่างแสดงท่าทีเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่แนวทางว่า จำเป็นต้องแก้กฎหมายประชามติก่อน ซึ่งเรื่องก็ดำเนินไปจนสภาผู้แทนฯ เห็นชอบผ่านวาระ 3
นายประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เสียงประชาชนทำประชามติ ต้องใช้เสียงเบื้องต้น 26 ล้านคน ถ้ามี “อีแอบ” ที่อยู่เบื้องหลังไม่อยากแก้ ไม่อยากให้สำเร็จ ท่านอย่าไปเชื่อตาม สว. ว่า ถ้าทำตามแล้วจะมีรัฐธรรมนูญได้โดยเร็ว อย่าไปเชื่อ ผมเชื่อว่า ถ้าหลงตามเขาก็รอชาติหน้าไม่ต้องแก้
[ได้แค่ 9 เสียงจาก สส. มีหลายเสียงที่หายไป]
ภายหลังเมื่อมีการตั้ง กมธ.ร่วมสองสภา วันนั้นตนรู้สึกเลยว่า พฤติกรรมในหมู่ กมธ.ร่วมฯ ผิดแผกจากที่ควรเป็น มีพยายามเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ฉากหน้าฉากหลัง ไม่พูดไม่จา ผมรู้แล้วว่า อะไรจะเกิดขึ้น แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งผมต่อสู้แล้ว ได้แค่ 9 เสียงจาก สส. และมีหลายเสียง ที่ขาดตกบกพร่องไป สิ่งเหล่านี้จะบอกว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับกฏหมายฉบับนี้
[180 วันรอได้!]
วันนี้เรารอได้ ถ้าผลการยับยั้งจะต้องให้เรารอ 180 วัน ผมอยากให้ท่านสมาชิกรอ เราต้องไม่เห็นชอบต่อมติร่วมของ กมธ.ทั้ง 2 สภา ถ้าเรารอ 180 วัน และหลังจากนั้น เราก็จะต้องยืนยัน ถ้าสภายืนยันหลัง 180 วัน และผลยืนยันชนะ ก็ทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ต่อไป
“ 180 วัน ไม่นานเกินรอไปกว่าคำหวานที่เขาป้อน แต่ถ้าเราเชื่อเขา จะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะผมระแวงอีแอบข้างหลัง ผมมองไม่ผิดเพี้ยนหรอกครับ ผมจึงชวนท่านสมาชิกทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ไม่เห็นชอบเพื่อให้มีผลยับยั้งกฎหมาย เพื่อรอ 180 วัน เพื่อจะได้มีความเห็นร่วมกันเพื่อเดินหน้าต่อไปอีกครั้ง”
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่า หลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำให้ง่าย เป็นธรรม แบบชั้นเดียว แต่สว. หรือกมธ.ร่วมกันฯ จะมาให้ฝ่ายสส.ที่เคยลงมติ409เสียงเห็นด้วยกับเสียงข้างมากชั้นเดียว ในชั้นกมธ.สภาฯ มาเห็นด้วยกับเสียงข้างมาก2ชั้นตามร่างฯของวุฒิสภาไม่ได้ เราต้องยืนยันเพื่อยับยั้ง มีคนถามตนว่า หากรัฐบาลผสม มีพรรคๆหนึ่งไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้จะทำอย่างไร ตนก็ตอบไปว่าต้องคุยกันใหม่ คุยกันเรื่อยๆจนจบ หวังว่าจะต้องคุยกัน หากมีปัญหาขึ้นมา ชาวบ้านจะตัดสินว่าพรรคเหล่านั้นที่บอกว่าอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดีแต่พูด ประชาชนจะสั่งสอนในการเลือกตั้งปี2570 ดังนั้นอย่าพูดเอาหล่อ ขณะนี้บ้านเมืองมันแย่จริงๆ ก็ขอให้สส.ทำเพื่อประชาชน ทำตามกฎหมาย ช่วยกันลงมติเพื่อยับยั้งแล้วรออีก180วันค่อยมาว่ากันอีกครั้ง
[เสียงข้างมากสองชั้น ไม่เป็นธรรม]
นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่าการกำหนดให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้น ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ตรงที่ คนส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วยกลายเป็นมีพวกมากขึ้นรวมกับผู้ไม่มาลงคะแนน จะกลายเป็น เสียงข้างน้อยกลายเป็นผู้กำหนดอนาคตบ้านเมือง
[ถ้าเห็นด้วยกับ สว. เท่ากับปิดประตูแก้ รธน.]
บางคนก็บอกว่า ถ้าจะแก้ลำบากก็ไปแก้รายมาตราไหม ซึ่งถ้าจะแก้รายมาตรา ก็จะแก้เรื่องใหญ่เรื่องสำคัญไม่ได้ และที่สำคัญก็ต้องไปแก้ผ่านประชามติอีกเช่นกัน ก็คือเจอด่านเสียงข้างมากสองชั้นอีก
ดังนั้น ถ้าเราเห็นชอบกับร่างนี้ของ สว. เท่ากับว่าเราจะปิดประตูแก้รัฐธรรมนูญ เพราะไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตราสำคัญ
ผมอยากย้ำว่า สส.ทุกฝ่าย เสนอร่างแก้ไขประชามติไปในทางเดียวกัน พรรคร่วมรัฐบาลประกาศแก้รัฐธรรมนูญ พรรคฝ่ายค้านเสนอกฏหมายแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ประกาศเจตนารมณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ
ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฉบับ สว. ดังนั้น เราจะต้องลงมติด้วยความเข้าใจว่า ถ้าเห็นชอบตามนี้ประหยัดไป 180 วัน แต่จะเป็นการปิดประตูแก้รัฐธรรมนูญตลอดไป
[ยอมเสียเวลา 180 วันเพื่อ รธน.ใหม่]
ในระหว่าง 180 วันที่รอ จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรจุไว้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามว่า ระหว่างรอแก้ไขประชามติห้ามเสนอร่างแก้ไข รธน. และก็ไม่ได้บอกว่าประชามติ 3 ครั้ง ดังนั้น เราต้องเตรียมรณรงค์ให้ประชาชนสนับสนุน หารือพี่น้องประชาชน ให้ช่วยกันพูดกับ สว. ให้เข้าใจ ให้สว. มาช่วยแก้ไข รธน. เพราะต้องได้เสียง สว. 67 เสียงมาช่วยแก้ รธน.
ในที่สุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวนผู้ลงมติ 389 คน เห็นชอบร่างของ กมธ.ร่วมรัฐสภา (เสียงข้างมากสองชั้น) 61 คน และไม่เห็นชอบ 326 คน งดออกเสียง 1 คน ไม่ลงคะแนน 1 คน เป็นอันว่าที่ประชุมสภาผู้แทน ไม่เห็นชอบกับร่าง พรบ.ประชามติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณา
เนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ได้ลงมติไม่เห็นชอบร่างดังกล่าว จึงมีผลให้ต้องยับยั้งร่าง พรบ.ฉบับนี้ไว้ก่อนตาม รธน. มาตรา 137 (3) ทั้งนี้ สภาผู้แทนฯ จะยกร่างฉบับนี้ขึ้นพิจารณาใหม่ได้ เมื่อพ้น 180 นับตั้งแต่วันที่สภาฯ ไม่เห็นชอบด้วยตาม รธน. มาตรา 138 (2)”