วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 26, 2024
หน้าแรกHighlight‘รฟท.’ลุ้นบอร์ด‘กพอ.’เคาะร่างแก้สัญญา ‘ไฮสปีด’เชื่อม 3 สนามบินภายในม.ค.68
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘รฟท.’ลุ้นบอร์ด‘กพอ.’เคาะร่างแก้สัญญา ‘ไฮสปีด’เชื่อม 3 สนามบินภายในม.ค.68

‘รฟท.’ ลุ้นบอร์ด ‘กพอ.’ เคาะร่างแก้ไขสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินภายในเดือนม.ค.68  ยันหากไร้ข้อสรุปเตรียมล้มสัญญา-ศึกษาประมูลเดินรถใหม่ ด้าน ‘สกพอ.’ ชง ‘กฤษฎีกา’ ตีความเพื่อความรอบคอบทางกฎหมาย

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด (ซีพี) คู่สัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซีจัดทำความคิดเห็นต่อร่างแก้ไขสัญญาฯ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณา ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม ภายในเดือนม.ค.68 ก่อนเสนอครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ส่วนกรณีที่ทางอีอีซีมีความเห็นว่าหากการแก้ไขสัญญาไม่ได้ข้อสรุปท้ายที่สุดจะให้รฟท.เป็นผู้ดำเนินการแทนนั้น เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรฟท.ไม่ได้มีปัญหาขัดข้อง โดยหากเปลี่ยนแปลงการแก้ไขสัญญาโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน โดยภาครัฐให้รฟท.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเองตลอดเส้นทาง ต้องเสนอต่อครม.พิจารณาด้วย ก่อนยกเลิกสัญญาเดิมต่อไป หลังจากนั้นจะต้องดำเนินการศึกษาใหม่ โดยเป็นการลงทุนในรูปแบบภาครัฐเป็นผู้ก่อสร้างและเปิดประมูลหาเอกชนเดินรถ ซึ่งจะทำให้โครงการฯมีความล่าช้าออกไป 

“อีอีซียืนยันว่าการแก้ไขร่างสัญญาไฮสปีดต้องได้ข้อสรุปภายในเดือนม.ค.นี้ ว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไปเพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงสร้างร่วมทับซ้อนกับสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 หากต้องการให้รฟท.เป็นผู้ดำเนินการ รัฐต้องให้นโยบายและจัดสรรงบประมาณด้วย”

ส่วนความคืบหน้าสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้วของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่ติดปัญหาเรื่องมรดกโลกบริเวณสถานีอยุธยานั้น ขณะนี้รฟท.ได้รับทราบว่าทางผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกจะมาพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 19-20 ม.ค.68  ซึ่งหากได้ความชัดเจนจากยูเนสโกว่าสามารถดำเนินการได้ เบื้องต้นรฟท.จะดำเนินการให้เอกชนก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ รฟท.พิจารณา ก่อนดำเนินการลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลเพื่อก่อสร้างภายในเดือนก.พ.68 ซึ่งเอกชนพร้อมยืนราคาภายในเดือนม.ค.-ก.พ.68 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ทันภายในปี 71 


 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การแก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนอยู่ระหว่างส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ เนื่องจากมีการปรับขั้นตอนการทำงานเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน  โดยก่อนหน้านี้จะเสนอพิจารณาแก้ไขสัญญาเข้า ครม. 2 รอบ แบ่งเป็น เสนอเพื่อพิจารณาในหลักการ และกลับมาทำร่างสัญญาให้อัยการตรวจสอบ ก่อนเสนอกลับไป ครม.อนุมัติอีกครั้ง แต่ตอนนี้ปรับแผนงานเป็นนำร่างสัญญาใหม่ให้อัยการตรวจสอบเลย เมื่อแล้วเสร็จจึงจะเสนอไป ครม.พิจารณาคราวครั้งเดียว ทำให้ต้องตรวจสอบรายละเอียดไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย

รายงานข่าวแจ้งว่า ผลของการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนล่าสุด กพอ.ที่มีนายพิชัย ชุนหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเห็นชอบแก้ไขสัญญา 5 ประเด็น คือ 

1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิมเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง รัฐแบ่งจ่าย 149,650 ล้านบาท ปรับเป็นลักษณะสร้างไปจ่ายไป โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท.ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมรวมเป็น 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดบริการภายใน 5 ปี โดยกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของรัฐทันทีตามงวดการจ่ายเงิน สำหรับการวางหลักประกันนั้น เอกชนยังไม่ต้องวางหลักประกันทันทีที่ลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุน โดยใช้เวลาหาหลักประกันได้แต่เมื่อต้องการเบิกรับเงินสนับสนุนต้องวางหลักประกันทันที

2.กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิ 10,671 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่ากัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้เอกชนต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท.ต้องรับภาระ

3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการลดอย่างมีนัยสําคัญ และทำให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกัน

4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท.ออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมด

5.การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img