พาณิชย์ประเมินแนวโน้มดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้าปี 2568 จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง ทั้งสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก -การแข่งขันทางการค้า-เงินบาทผันผวน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้าปี 2568 จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าคาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป 2.ฐานราคาของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ3. ราคาสินค้าเกษตรและอาหารบางรายการยังขยายตัวได้ดี และ 4. สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน และวัตถุดิบ รวมถึงค่าระว่างเรือ
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ 1 ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย 2. ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อในหลายภูมิภาค 3. ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกของไทย 4. การแข่งขันทางด้านราคามีแนวโน้มสูงขึ้น และ 5. ความผันผวนของค่าเงินบาท
สำหรับภาพรวมดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้าของไทย เดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาดในหลายกลุ่มสินค้า รวมถึงความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้ในการผลิตและส่งออก ซึ่งแม้ปัจจุบันจะเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนในหลายด้าน ทั้งความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความสามารถทางการแข่งขัน แต่ภาพรวมของราคาส่งออกและนำเข้า ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2567 เท่ากับ 110.6 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 สูงขึ้นร้อยละ 1.1 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาในเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.6
(ยางพารา และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง) ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.4 (เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และทองคำ) ตามแนวโน้มความต้องการสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
สำหรับทองคำ แม้ราคาจะมีความผันผวน แต่ความต้องการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.0 (อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป) ตามความต้องการของตลาดที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 5.3 โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง และเฉลี่ย 11 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ย.) ของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 1.4 (AoA) โดยเป็นการขยายตัวได้ดีเกือบทุกหมวดสินค้า ยกเว้นหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันยังคงอ่อนแอจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า
ดัชนีราคานำเข้า เดือนพฤศจิกายน 2567 เท่ากับ 112.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.4 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาในเกือบทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 7.6 (เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องประดับอัญมณี และผัก ผลไม้และของปรุงแต่ง
ที่ทำจากผัก ผลไม้) ตามความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 3.9 (เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ) ตามความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 3.7 (ทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์) ตามความต้องการสินค้าเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ตามความต้องการอุปกรณ์และชิ้นส่วนเพื่อใช้ในการผลิตรถยนต์ภายในประเทศและส่งออก ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 9.4(น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป) ตามทิศทางอุปสงค์น้ำมันโลกยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังส่งสัญญาณชะลอตัว และเฉลี่ย 11 เดือนแรก (ม.ค. – พ.ย.) ของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 1.0 (AoA) โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในหลายหมวดสินค้า ยกเว้นหมวดสินค้าเชื้อเพลิง และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ตามความต้องการใช้ที่ชะลอลง