“บอสมิน-บอสแซม”เฮ!ราชการทัณฑ์ จ่อปล่อยตัวออกจากเรือนจำทันที หลัง “สำนักงานคดีพิเศษ” สั่งไม่ฟ้องปมเอี่ยวคดีดิไอคอนฯ เหตุ ครบฝากขังผัด 7 ต้องเบิกตัวขึ้นศาลช่วงเช้า 9 ม.ค.นี้ ก่อนรอหมายปล่อยจากศาลมายังราชทัณฑ์
จากกรณีที่สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้พิจารณาสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และมีความเห็นและคำสั่งทางคดี สั่งฟ้อง บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดยนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล กรรมการผู้มีอำนาจ ผู้ต้องหาที่ 1 และพวกรวม 17 ราย และสั่งไม่ฟ้องนายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแชม ผู้ต้องหาที่ 17 และ น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมีน ผู้ต้องหาที่ 18 ตามข้อกล่าวหา ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 8 ม.ค.นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2567 คดีระหว่าง นายณัฏฐ์ ธนาพิพัฒน์ดลภัค กับพวก ผู้กล่าวหา บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด โดยนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 19 คน
ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต” เหตุเกิดระหว่างวันที่ 12 ส.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ส.ค. 2567 ในท้องที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อเนื่องกัน คิดเป็นค่าเสียหายรวมประมาณ 649,912,290 บาท นั้น
เนื่องจากคดีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมากและเป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ ถือเป็นคดีสำคัญตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด จึงได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานร่วมกันพิจารณา บัดนี้สำนักงานคดีพิเศษ ได้พิจารณาสำนวนดังกล่าวแล้วมีความเห็นและคำสั่ง ดังนี้
สั่งฟ้อง บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดยนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล กรรมการผู้มีอำนาจ ผู้ต้องหาที่ 1
นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล ผู้ต้องหาที่ 2
นายจิระวัฒน์ แสงภักดี หรือบอสแล็ป ผู้ต้องหาที่ 3
นายกลด เศรษฐนันท์ หรือบอสปีเตอร์ ผู้ต้องหาที่ 4
น.ส.ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร หรือบอสปัน ผู้ต้องหาที่ 5
นายฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ หรือบอสหมอเอก ผู้ต้องหาที่ 6
น.ส.นัฐปสรณ์ ฉัตรธนสรณ์ หรือบอสสวย ผู้ต้องหาที่ 7
น.ส.ญาสิกัญจณ์ เอกชิสนุพงศ์ หรือบอสโซดา ผู้ต้องหาที่ 8
นายนันท์ธรัฐ เชาวนปรีชา หรือบอสโอม ผู้ต้องหาที่ 9
นายธวิณทร์ภัส ภูพัฒนรินทร์ หรือบอสวิน ผู้ต้องหาที่ 10, น.ส.กนกธร ปูรณะสุคนธ์ หรือบอสแม่หญิง ผู้ต้องหาที่ 11
น.ส.เสาวภา วงษ์สาขา หรือบอสอูมมี่ ผู้ต้องหาที่ 12
นายเชษฐ์ณภัฏ อภิพัฒนกานต์ หรือบอสทอมมี่ ผู้ต้องหาที่ 13
นายหัสยานนท์ เอกชิสนุพงศ์ หรือบอสป๊อบ ผู้ต้องหาที่ 14
นางวิไลลักษณ์ ยาวิชัย หรือบอสจอย ผู้ต้องหาที่ 15
นายธนะโรจน์ ธิติจริยาวัชร์ หรือบอสออฟ ผู้ต้องหาที่ 16
นายกันต์ กันตถาวร หรือบอสกันต์ ผู้ต้องหาที่ 19
ตามข้อกล่าวหา ฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 3, 19, 20, 38, 46, 47, 54, พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 มาตรา 3, 6, 18, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 341, 343 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติแก้ไขเพามเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 11/1, 12, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2534 มาตรา 3 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 3, 4, 5 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ตามความเห็นพนักงานสอบสวน
นอกจากนี้ สั่งไม่ฟ้อง นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือบอสแซม ผู้ต้องหาที่ 17 และ น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือบอสมีน ผู้ต้องหาที่ 18
ผู้ต้องหาที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มีคำสั่งฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ จะได้ดำเนินการยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 17 ต่อศาลอาญาในวันนี้
ส่วนผู้ต้องหาที่ 17 และ 18 ซึ่งพนักงานอัยการสำนักคดีพิเศษ มีคำสั่งไม่ฟ้องนั้น พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ จะได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาต่อศาลอาญาและจะดำเนินการส่งสำนวนพร้อมความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งในคำสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ต่อไป
ด้านนางกนกวรรณ จิ๋วเชื้อพันธุ์ ผบ.เรือนจำจังหวัดนนทบุรี และในฐานะรองโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า สำหรับการปล่อยตัวบอสแซม ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และบอสมีน ออกจากทัณฑสถานหญิงกลาง จะยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ เนื่องจากยังไม่ครบกำหนดฝากขังผัดที่ 7 ซึ่งการครบกำหนดฝากขังผัดที่ 7 จะตรงกับวันที่ 9 ม.ค. ดังนั้น วันนี้ทางราชทัณฑ์จึงยังไม่สามารถปล่อยตัวบอสมีนและบอสแซมออกจากการสถานคุมขังได้
นอกจากนี้ ทราบว่าตามกระบวนการในวันที่ 9 ม.ค. จะมีการเบิกตัวผู้ต้องหาทั้ง 18 ราย ไปยังศาลอาญารัชดาภิเษกในช่วงเช้า เพื่อรับฟังรายละเอียดการสั่งฟ้องของพนักงานอัยการต่อศาล จากนั้นทั้งหมดจะได้รับทราบผลคำสั่งทางคดีว่าใครถูกสั่งฟ้อง หรือไม่สั่งฟ้องบ้าง จากนั้นทั้งหมดจะถูกนำตัวขึ้นรถคุมขังของราชทัณฑ์กลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อรอหมายปล่อยจากศาล ดังนั้น เมื่อวันพรุ่งนี้ (9 ม.ค.) มีหมายปล่อยจากศาลมายังราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการทางธุรการเพื่อเตรียมปล่อยตัวบอสแซมและบอสมีน จึงคาดว่าอาจจะได้มีการปล่อยตัวทั้งคู่ออกจากเรือนจำในช่วงเย็น หรือถ้าหากศาลมีการอ่านรายละเอียดของเสร็จสิ้นในช่วงเช้า การปล่อยตัวอาจเกิดขึ้นในช่วงกลางวันก็เป็นได้