วันศุกร์, มกราคม 10, 2025
หน้าแรกNEWSบอร์ดอีอีซียึดเกณฑ์เดิมแก้สัญญาร่วมทุนรถไฟเชื่อม 3 สนามบินกลุ่มซีพี
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

บอร์ดอีอีซียึดเกณฑ์เดิมแก้สัญญาร่วมทุนรถไฟเชื่อม 3 สนามบินกลุ่มซีพี

“จุฬา” เผยการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเทรน รถไฟเชื่อม 3 สนามบินเป็นหลักการเดิม เร่งรฟท. – เอกชนคู่สัญญาเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เสนอบอร์ดเล็กก่อนชงอัยการสูงสุด ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างเม.ย.68

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือ ไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้รับทราบแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการไฮสปีดเทรน  โดยเป็นไปตามหลักการเดิมของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการนี้ 

โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อ 21 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (EEC Track) ซึ่งเป็นไปตามที่ได้หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว

ทั้งนี้ ในการดำเนินการต่อไป รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา 

หลังจากนั้น รฟท. จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายัง สกพอ. เพื่อเสนอให้ กพอ. และ ครม. พิจารณาเห็นชอบในการแก้ไข  โดย รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ ครม. เห็นชอบ และ รฟท. จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ได้ภายในเดือนเมษายน 2568 

สำหรับผลของการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน  5 ประเด็น คือ

1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิมเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง รัฐแบ่งจ่าย 149,650 ล้านบาท ปรับเป็นลักษณะสร้างไปจ่ายไป โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท.ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมรวมเป็น 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดบริการภายใน 5 ปี โดยกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของรัฐทันทีตามงวดการจ่ายเงิน สำหรับการวางหลักประกันนั้น เอกชนยังไม่ต้องวางหลักประกันทันทีที่ลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุน โดยใช้เวลาหาหลักประกันได้แต่เมื่อต้องการเบิกรับเงินสนับสนุนต้องวางหลักประกันทันที

2.กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิ 10,671 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่ากัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้เอกชนต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท.ต้องรับภาระ

3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการลดอย่างมีนัยสําคัญ และทำให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกัน

4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท.ออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมด

5.การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img