“ทวี” เผย “ยธ.” พร้อมเยียวยา “แซม-มิน” หากคดีดิไอคอนถึงที่สุด ว่าเป็นจำเลยหรือแพะวอนอย่าเอากระแสสังคมมากดดัน จะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงและหลักฐาน
เมื่อวันที่ 10 ม.ค.68 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความรับผิดชอบของบอสดิไอคอนอย่างไร หลังพนักงานอัยการคดีพิเศษ มีความเห็นไม่สั่งฟ้องนายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือ “บอสแซม” และน.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือ “บอสมิน” 2 นักแสดงชื่อดัง ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาว่า พวกเราต้องยึดหลักนิติธรรม ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด เราถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ นี่คือหลักสากล และในกระบวนการยุติธรรม เราไม่ได้บูรณาการ เราต้องมีอิสระในการใช้ดุลพินิจ ถ้าบูรณาการโดยตรงเกินไป มันจะเป็นการฮั้วกัน แล้วทำให้เป็นปัญหาต่อกระบวนการได้
ฉะนั้น พนักงานจึงมีอิสระในการสั่งคดี ซึ่งในกรณีของพนักงานสอบสวนเมื่อสั่งฟ้องไปแล้ว พนักงานอัยการอาจจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้ บางทีพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง แต่อัยการอาจสั่งฟ้อง อย่างไรก็ตาม แต่เราก็มีการถ่วงดุลของพนักงานอัยการ คือถ้าหากอัยการไม่สั่งฟ้อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็จะต้องพิจารณาดูว่าจะมีความเห็นแย้งอย่างไรหรือไม่ โดยถ้าหากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นแย้งกับคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ก็จะต้องทำหนังสือขอให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด ทั้งนี้ แต่ถ้าคดีถึงที่สุดเมื่อใดนั้น ในทางกฎหมายจึงจะถือว่าเป็นผู้เสียหาย หรือเป็นเหยื่อ หรือเป็นแพะ หรือจำเลยที่ศาลยกฟ้อง ซึ่งในขณะนี้กระทรวงยุติธรรม ได้ก้าวหน้าในเรื่องสิทธิไปมากกว่านั้น โดยได้เสนอกฎหมายเข้าสู่สภาซึ่งแม้แต่ในชั้นอัยการ หากมีการสั่งไม่ฟ้อง แต่คดีไปถึงเด็ดขาดแล้ว เราก็จะเยียวยาให้กับผู้เสียหายหรือจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวชั่วคราว สิ่งนี้เป็นการพัฒนาของกระบวนการยุติธรรม แต่ขณะนี้ก็อาจจะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะมันยังอยู่ระหว่างทาง จึงขอให้ดูให้สุด หากท้ายสุดแล้วอัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้อง เขาก็อาจมีสิทธิได้รับการชดเชยเยียวยา แต่ในตอนนี้ตนไม่ทราบได้ว่าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเห็นแย้งหรือไม่อย่างไร แต่ในเรื่องของความยุติธรรมอย่าเอากระแสมากดดัน อยากให้พิจารณาตามข้อเท็จจริงและหลักฐาน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนอยากเรียนสังคมให้ทราบว่ามันเป็นเรื่องที่มีผลกระทบเยอะ เป็นคดีที่น่าสนใจ เราก็อยากให้พนักงานสอบสวนทำตามพยานหลักฐาน และก็ทำตามความรู้ความสามารถจริงๆ หากทางอัยการได้มีหนังสือคำสั่งไม่ฟ้องในคดีส่งมาถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ จากนั้นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษก็จะได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูพยานหลักฐานที่อัยการไม่ฟ้อง จะแย้งหรือไม่ ถ้าแย้งก็ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งอัยการสูงสุดเป็นอิสระจากอัยการที่สั่งฟ้องอยู่แล้ว