คมนาคม หารือญี่ปุ่น ยกระดับความร่วมมือการพัฒนาระบบราง ระบุไทยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของอาเซียน พร้อมสนับสนุน JTTRI ประเทศไทย ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนต้อนรับ นายชูคุริ มาซาฟูมิ ประธานสถาบันวิจัยการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JTTRI) และประธานสมาคมรถไฟความเร็วสูงระหว่างประเทศ (IHRA) ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและร่วมหารือ ถึงทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานปี 2568 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมกับ JTTRI และ IHRA และรายงานการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Thai – Japan Railway Workshop
นายชาครีย์ กล่าวว่า ได้หารือถึงทิศทางความร่วมมือระหว่าง JTTRI กับกระทรวงคมนาคมด้านการส่งเสริมเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งนายสุริยะได้ให้ความสำคัญพร้อมมอบนโยบายให้การขนส่งทางรางเป็นการขนส่งหลัก ของประเทศ เพื่อให้ต้นทุนราคาค่าขนส่งของประเทศถูกลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือระหว่าง JTTRI กับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในการร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ Thai – Japan Railway Workshop 2024 วันที่ 17 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการป้องกันอุบัติเหตุและยกระดับความปลอดภัย ถือเป็นการยกระดับความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยไปอีกขั้นหนึ่ง
ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านการขนส่งทางถนนมาสู่ทางรางและทางน้ำ ทำให้มีการขยายเส้นทางรถไฟจำนวนมาก ทั้งในเขตเมืองและเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย ประกอบด้วย 1. ช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน – หัวหมาก และช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง 2.ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และ 3. ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช และ ตลิ่งชัน – ศาลายา โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะทางรวมกว่า 1,500 กิโลเมตร แบ่งเป็นระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่า 95% และระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างแล้ว 1 เส้นทางคือ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย และอีก 6 เส้นทาง อยู่ระหว่างรอการนำเสนอคณะรัฐมนตรี และโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา และช่วงนครราชสีมา – หนองคาย
“ภายใต้นโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน โดยความช่วยเหลือด้านวิชาการจาก JTTRI ที่ได้รับอย่างต่อเนื่องจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีระบบรางในระดับโลก โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของ JTTRI ประเทศไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบรางของไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป”