“ธนวรรธน์” เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงตรุษจีนทะลุ 51,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% สูงสุดในรอบ 5 ปี หลังรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เน้นซื้อของเซ่นไหว้ รองลงมาไปทำบุญ -รับประทานอาหาร- ให้แตะเอีย – ท่องเที่ยวในประเทศ
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2568 คาดว่าเม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ จะอยู่ที่ราว 51,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.5% โดยเม็ดเงินดังกล่าว ถือว่าสูงสุดในรอบ 5 ปี และเป็นมูลค่าที่ขึ้นไปแตะระดับ 50,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี
ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 67 ที่รัฐบาลเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งบางมาตรการมีผลในไตรมาส 4/67 และบางมาตรการจะเริ่มมีผลในไตรมาส 1/68
“ความเชื่อมั่นของประชาชนเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ เดือนตุลาคม จากผลของการเริ่มแจกเงินหมื่นเฟสแรก, การจ่ายเงินช่วยเกษตรกรไร่ละ 1 พันบาท รวมทั้งมาตรการที่จะมีผลในไตรมาสแรกปีนี้ เช่น Easy E-Receipt 2.0 และเงินหมื่น เฟส 2 สำหรับผู้สูงอายุ ส่งผลให้การใช้จ่ายช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 3% และคาดว่าตรุษจีนปีนี้ การใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น 4.5% จากปีก่อน โดยมูลค่าแตะ 50,000 ล้านบาท ”
ขณะเดียว จากผลสำรวจความเห็นทั้งในฝั่งของประชาชน และฝั่งผู้ประกอบการร้านค้า ทำให้เห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนในระยะยาวนั้น คงต้องจับตาปัจจัยอื่นประกอบ โดยเฉพาะนโยบายทรัมป์ 2.0 ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นความเห็นความชัดเจนของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้เป็นต้นไป โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปี 68 จะขยายตัวได้ที่ 2.0-2.5% ซึ่งต่ำกว่าปี 67 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5-2.7%
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,283 คนทั่วประเทศ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 36.3% เชื่อว่าบรรยากาศตรุษจีนปีนี้ จะคึกคักมากกว่าปีที่ผ่าน ส่วนกลุ่มตัวอย่าง 34.8% เชื่อว่าความคึกคักจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 28.9% เชื่อว่าจะคึกคักน้อยกว่า
สำหรับเหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เชื่อว่ามูลค่าการใช้จ่ายช่วงตรุษจีนปีนี้จะเพิ่มขึ้น เป็นเพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น ขณะที่สาเหตุที่ทำให้การใช้จ่ายช่วงตรุษจีนปีนี้ลดลง มาจากการลดค่าใช้จ่าย ภาวะเศรษฐกิจแย่ลง และมีรายได้ลดลง หนี้สินมากขึ้น เป็นต้น
โดยสถานที่ที่ใช้เลือกซื้อของไหว้เจ้า คือ ตลาดสด รองลงมา คือ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (บิ๊กซี, แม็คโคร, โลตัส), ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และซื้อผ่าน Online
สำหรับการวางแผนใช้จ่ายช่วงตรุษจีน ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในการซื้อของเซ่นไหว้ รองลงมา คือ ไปทำบุญ ไปรับประทานอาหาร ให้แตะเอีย และท่องเที่ยวในประเทศ
นอกจากนี้ได้สำรวจความเห็นต่อมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ว่าส่งผลต่อการใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนอย่างไร พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 62.4% ตอบว่า ไม่มีผล ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 30.9% ตอบว่า ใช้เพิ่มขึ้น และที่เหลืออีก 6.7% ตอบว่าใช้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี หากมองผลของมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม จะพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 52.5% เชื่อว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ปานกลาง รองลงมาก 19.9% เชื่อว่าช่วยได้มาก โดยมีเพียง 2.8% ที่ตอบว่า ไม่ช่วยเลย
ทั้งนี้ การสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ-ร้านค้า ต่อช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 68 พบว่า ผู้ประกอบการ-ร้านค้าส่วนใหญ่ 50.7% เชื่อว่าประชาชนจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น รองลงมา 41.1% เชื่อว่าไม่เปลี่ยนแปลง และมีผู้ประกอบการ-ร้านค้าเพียง 8.2% ที่เชื่อว่าประชาชนจะใช้จ่ายลดลง
ขณะเดียวกัน ยังมีการสำรวจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างไร โดยกรณีเงินโอน 10,000 บาท เฟส 2 ที่ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 46.3% เชื่อว่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลง รองลงมา 39.8% เชื่อว่าจะมีผลช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น และอีก 13.9% เชื่อว่ามีผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้นมาก