‘เลขาฯ สมช.’ เผย มีหลักฐานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่งข้อมูลให้มหาดไทย-กฟภ.พิจารณาตัดไฟ ให้ กฟภ.นำข้อมูลไปเจรจากับบริษัทคู่สัญญา จากมาตรการเบาไปหาหนัก ล่าสุด กฟภ.แจ้งบริษัทคู่สัญญาแล้ว ถึงความกังวลเรื่องใช้ไฟที่ไม่ถูกต้อง-ไม่เป็นไปตามสัญญา พร้อมให้ กต.ประสานเมียนมา ตั้งคณะกรรมการร่วม ลงพื้นที่แก้ปัญหา
วันที่ 3 ก.พ.68 นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เปิดเผยภายหลังประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประมวลข้อมูลด้านความมั่นคง ส่งให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พิจารณา ระงับการจ่ายไฟพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหมด 5 จุด ประกอบด้วย
1.จุดซื้อขายบริเวณบ้านเจดีย์สามองค์ – เมืองพญาตองรัฐมอญ
2.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านเหมืองแดง – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน เมียนมา
3.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย – พม่า – เมืองท่าขี้เหล็ก
4.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย – พม่า แห่งที่ 2 – อ.เมียวดี
5.จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านห้วยม่วง – อ.เมียวดี
เลขาฯ สมช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมช.มีการติดตามเรื่องการหลอกลวงออนไลน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกระทรวงมหาดไทย ในการกำหนดแนวทางที่ชัดเจน รวบรวมข้อมูลให้เกิดความรอบคอบในการตรวจสอบกลั่นกรองข้อมูล ซึ่งสมช.มีข้อมูลที่จะส่งให้ กระทรวงมหาดไทย และ กฟภ.อยู่แล้ว
ในวันนี้ที่ประชุมได้ประมวลข้อมูลด้านความมั่นคง มีหลักฐานที่เชื่อมั่น และมีหลักฐานปรากฏระดับหนึ่ง ที่จะส่งให้ กระทรวงมหาดไทยและ กฟภ. โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา ซึ่งพบข้อมูลสำคัญ 6 ประเด็น คือ
1.ข้อมูลด้านความมั่นคง พื้นที่ตั้งจุดต่างๆ ที่เชื่อว่ามีความเสี่ยง และมีหลักฐานระดับหนึ่ง ว่าเกี่ยวพันกับกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่อยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมามีหลายจุด ทั้งที่แม่สาย เมียวดี พญาตองซู
2.พบว่ามีความเชื่อมโยงของบุคคลในบริษัทสัมปทาน กับกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงบ่อนกาสิโน ซึ่งเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่อาจจะมีความเป็นไปได้ว่า เชื่อมโยงกับการจำหน่ายไฟ ในเมียนมา
3.พบข้อมูลเรื่องการใช้ไฟเพิ่มผิดปกติ และมีความต้องการขอการใช้ไฟเพิ่ม โดยไม่สามารถอธิบายได้ว่า จะเอาไปทำอะไร ถือว่ามีความพยายามในช่วงที่ผ่านมา แต่เราไม่ได้อนุมัติไป
4.รัฐบาลไทยเคยตัดไฟไปแล้วที่ชเวก๊กโก กับเคเคพาร์ค แต่ก็ปรากฏว่ายังสามารถประกอบกิจการได้ อาจจะเป็นการใช้น้ำมันปั่นไฟหรือไม่ ต้องไปดู
5.เราเห็นว่าสัดส่วนการใช้ไฟเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณา ว่าแต่ละจุดเป็นอย่างไร จะได้นำมาประกอบการพิจารณา จึงมีการขอข้อมูลจากในพื้นที่
6.จุดที่มีการตัดไฟไปแล้ว เราพบว่ามีหลักฐานบางอย่างเชื่อมโยงว่า มีการเปิดเส้นทางใหม่ ด้วยการเอาใช้ไฟจากจุดอื่น มายังจุดที่ตัดไฟไปแล้ว
ข้อมูลทั้งหมดนี้จัดส่งให้ กฟภ.และมหาดไทยไปพิจารณาตามกฏหมาย และเงื่อนไขที่กำหนดกับบริษัทคู่สัญญา
นายฉัตรชัยกล่าวต่อว่า วันนี้ สมช.มีมติ 3 เรื่อง คือ สมช. ประมวลข้อมูลด้านความมั่นคงทั้งหมดส่งให้ กฟภ.นำข้อมูลไปเจรจากับบริษัทคู่สัญญา เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม ให้เป็นไปตามสัญญาจากมาตรการเบาไปหาหนัก ในการพิจารณาจ่ายไฟ
ล่าสุดการไฟฟ้าก็ทำงานเชิงรุก โดยได้แจ้งบริษัทคู่สัญญาไปแล้ว ว่ามีความกังวลเรื่องการใช้ไฟที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นตามสัญญา ซึ่งได้มีส่งหนังสือแจ้งไปแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
ขณะเดียวกัน ได้มีมติให้กระทรวงการต่างประเทศ ประสานกับรัฐบาลเมียนมา ในการไปกำชับให้บริษัทคู่สัญญา ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลเมียนมาอนุมัติให้มาทำสัญญาสัมปทานกับไทย เพื่อไปตรวจสอบว่า ตรงไหนมีขายไฟในจุดที่ไม่เหมาะสม และขายไฟให้กับกลุ่มผิดกฎหมาย รวมทั้งขอให้มีคณะทำงานตรวจสอบจากฝั่งไทยร่วมกับเมียนมา ว่าจุดไหนที่ยังมีปัญหาอยู่ เพื่อเห็นชอบตรงกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นมาตรการเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัทคู่สัญญาของ กฟภ.ใน 5 จุด เป็นมาตรการเฉพาะหน้า
ส่วนระยะยาว ต้องย้อนดูมติครม. ในการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ปี 2537 ที่เห็นแก่เรื่องการค้าชายแดน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเรื่องมนุษยธรรมกับประชาชนตามแนวชายแดนจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงอนุญาตให้มีการจำหน่ายไฟฟ้า แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และกลุ่มที่ทำผิดกฎหมายต่างๆใช้ประเทศเพื่อนบ้านในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ต้องเป็นเรื่องที่ไทย ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาร่วมกัน
สมช.จะมีการประเมินภาพรวมรอบประเทศไทย ว่ามีปัญหาแบบนี้หรือไม่ เพื่อจะได้มีการทบทวนและกำหนดนโยบายให้เหมาะสมในเรื่องนี้ โดยนำประสบการณ์ปัญหาที่พบเจอ มาประกอบการพิจารณา ว่าจะปรับแก้นโยบายหลักเกณฑ์เงื่อนไขอย่างไร ให้มีความเหมาะสม
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า จะรีบทำหนังสือส่งให้กระทรวงมหาดไทย และ กฟภ.ภายในบ่ายวันนี้
ส่วนมาตรการจะเบาไปหาหนักนั้น ขึ้นอยู่กับ กฟภ. ที่ต้องดูเงื่อนไขว่ามีขั้นตอนอย่างไร เช่นการงดจ่ายไฟจะงดแบบไหน แต่ทั้งหมดเราก็คำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องดูตามความเหมาะสม
ย้ำว่าที่ผ่านมา ไม่ใช่โยนกันไปโยนกันมา เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ ข้อกฎหมายกระบวนการทำงานในปัจจุบัน ต้องมีขั้นตอนที่ชัดเจน และ สมช.มีข้อมูลด้านการข่าว การไฟฟ้าสามารถให้ข้อมูลด้านความมั่นคงกับ กฟภ. และมหาดไทยได้ อย่างไรก็ตามจะดำเนินการให้เร็วที่สุด และ กฟภ.จะนำมติวันนี้ไปเจรจา กับคู่สัญญา
เมื่อถามว่าจากข้อมูลที่ฝ่ายไทยมีทั้ง 5 จุด สามารถตัดสินใจตัดไฟได้เลยหรือไม่ นายฉัตรชัย ย้ำว่า เป็นข้อมูลที่ปรากฏในระดับหนึ่ง รายละเอียดต้องมีการพูดคุยกับบริษัทคู่สัญญาด้วย แต่ถ้าจะให้ชัดมากๆ ต้องมีคณะไปตรวจสอบให้ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนก่อน เชื่อว่าเมียนมา ก็ต้องการแก้ปัญหานี้เช่นกัน
ขณะที่นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ปัจจุบันทาง PEA มีข้อมูลบริษัทที่ได้สัมปทาน ซึ่งประเทศเมียนมาที่ท่าขี้เหล็ก คือ บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด แต่ถ้าเป็นที่แม่สอดมี 2 บริษัท และที่พญาตองซู 1 บริษัท ซึ่งทั้งหมดมีประมาณ 4 บริษัท ตอนนี้ข้อมูลทางความมั่นคงหลังจากที่ได้ประชุมวันนี้ก็ได้ประโยชน์ จะนำไปดำเนินการต่อไป
ส่วนจะดำเนินการตัดไฟได้เลยหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าทำผิดก็ตัดได้ เพียงแต่ว่ากระบวนการต่างๆต้องรอบคอบและรัดกุม ยืนยัน จะดำเนินการอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ส่วนเรื่องการลงพื้นที่ไปตรวจสอบนั้นจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งข้อมูลมีมาจำนวนหนึ่งแล้วที่เราสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการที่จะงดจ่ายไฟก็ต้องไปตรวจสอบก่อน
เมื่อถามว่าหากลงพื้นที่ไปแล้วประกอบกับหลักฐานที่มีอยู่ซึ่งมีจำนวนมากจะสามารถดำเนินการตัดไฟได้เลยใช่หรือไม่ นายประสิทธิ์ ระบุว่า เราต้องมองเรื่องของกฎหมาย มติครม. และเราก็สามารถเสนองดจ่ายไฟเข้าที่ประชุมครม.ได้เลย และหากครม.อนุมัติก็งดจ่ายไฟได้ทันที ซึ่งการลงพื้นที่นั้นต้องข้ามไปฝั่งเพื่อนบ้าน เพราะเป็นการลงพื้นที่จริง ซึ่งหากบริษัทที่ได้รับสัมปทานยืนยันว่าไม่มีการกระทำผิด เราก็ต้องไปตรวจสอบ
ส่วนในสัญญาที่ให้กับบริษัทที่ได้รับ สัมปทานได้ระบุไว้หรือไม่ว่าหากนำไฟไปใช้ผิดประเภทจะตัดไฟทันที นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ในสัญญาระบุไว้ว่าถ้านำไปใช้แล้วกระทบต่อความมั่นคง เพราะฉะนั้นความมั่นคงก็เลยเกี่ยวข้องกับที่ประชุมสภาความมั่นคงวันนี้
เมื่อถามว่ามีโอกาสจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้เลยหรือไม่ว่าให้งดจ่ายไฟไปก่อน นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ต้องดูหลักฐานทั้งหมดเพื่อจะนำมาประมวล ถ้าเรื่องงดจ่ายไฟก็ต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยต้องไปลงพื้นที่ก่อน อย่างเร็วที่สุดซึ่งก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน และวันนี้มีคณะกรรมการของ PEA ที่ได้เดินทางไปดูมาบ้างแล้ว ที่แม่สายและแม่สอดก็ไปมาแล้วแต่ไปฝ่ายเดียวไม่ได้ต้องไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันนี้เรายังไปแค่ชายแดนไม่ได้ข้ามไปฝั่งเพื่อนบ้าน
ส่วนกรณีนายรังสิมันต์ โรม ประธานกมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐกิจการชายแดนไทยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่ออกมาเปิดเผยว่ามีการพยายามขอใช้ไฟไปจากพื้นที่ที่มีการงดจ่ายไฟไปแล้ว ณ วันนี้ถึงแม้จะมีของเราไม่ให้แน่นอน และกำลังพิจารณาว่าที่ขายอยู่ถ้าหมดสัญญาไปแล้ว เราจะใช้เงื่อนไขนี้ ในการที่จะไม่ขายไฟต่อ ถ้าเกิดเขาเอาไปขายในสิ่งที่ผิดกฎหมายเราจะไม่ต่อสัญญาด้วยซ้ำ ซึ่งสัญญามีแต่ละจุดๆไป จุดละ 3-5 ปี