วันพุธ, กุมภาพันธ์ 12, 2025
หน้าแรกNEWS‘เพื่อไทย’ เปิดไทม์ไลน์เส้นทางพรรคเพื่อไทย ผลักดันแก้รัฐธรรมนูญ ม.256
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘เพื่อไทย’ เปิดไทม์ไลน์เส้นทางพรรคเพื่อไทย ผลักดันแก้รัฐธรรมนูญ ม.256

‘เพื่อไทย’ เปิดไทม์ไลน์เส้นทางพรรคเพื่อไทย ผลักดันแก้รัฐธรรมนูญ ม.256 เปิดทางตั้ง สสร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

วันที่ 12 ก.พ.68 เพจ ‘พรรคเพื่อไทย’ โพสต์ข้อความระบุว่า

‘เพื่อไทย’ ยังเดินหน้าแก้ รธน. มาตรา 256 เปิดทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เสมอมาตั้งแต่ยังเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยมีแนวทางคือการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 256 ที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนได้

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายแก้รัฐธรรมนูญ และจัดทำรัฐธรรมนูญของประชาชน

ณ วันนี้ เราจึงขอยืนยันแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยรายละเอียดและหลักการเดิมตามที่เคยเสนอมาโดยตลอด

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 พรรคเพื่อไทยมีมติเอกฉันท์ในการดำเนินการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2

ในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 จึงได้ยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ รวมถึงร่างแก้ไขมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย ผลปรากฏว่าผ่านวาระแรก จึงเริ่มพิจารณาวาระที่สอง

ทว่า ในระหว่างการพิจารณาวาระที่ 2 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 สมาชิกรัฐสภาได้ยื่นญัตติด่วนต่อรัฐสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยที่ประชุมร่วมมีมติเห็นชอบ

จากนั้น ในวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ว่ารัฐสภามีอำนาจ แต่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างเสร็จ ต้องทำประชามติถามประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

ในเวลานั้น ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำลังเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 3 ซึ่งเป็นวาระการพิจารณาเห็นชอบแล้ว เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงมีความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างสมาชิกรัฐสภา แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเปิดให้สามารถทำประชามติหลังจากรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขในวาระที่ 3 สมาชิกรัฐสภาจำนวนมากเห็นว่าไม่มีอำนาจในการลงมติ จึงมีมติไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียง ทำให้ร่างดังกล่าวจึงถูกปัดตกไปในวันที่ 17 มีนาคม 2564

ในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 พรรคเพื่อไทยได้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหลักการและแนวทางเดิมอีกครั้ง แต่ถูกปัดตกโดยประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 มิถุนายน 2564 โดยอ้างคำวินิจฉัยดังกล่าว

จากนั้น ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รัฐบาลใหม่และนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลคือการมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เนื่องจากประเด็นดังกล่าวยังมีความเห็นแตกต่างอย่างมากในสังคม ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรีจึงได้ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อฟังความเห็นจากภาคการเมือง พรรคการเมือง และภาคประชาชนให้ครบถ้วนเสียก่อน และถัดจากนั้น วันที่ 25 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการประชามติฯ ได้ข้อสรุปการทำคำถามประชามติ ใจความว่า ท่านจะเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์

จากนั้น วันที่ 16 มกราคม 67 พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม ม.256 เพื่อลดการทำประชามติให้เหลือเพียง 2 ครั้ง แต่ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 67 ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไข รธน. เข้าสู่วาระประชุม จากนั้น 29 มีนาคม 67 นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อขณะนั้นเสนอญัตติให้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมรัฐสภามีมติส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. รัฐสภาจะลงมติพิจารณาแก้ไขได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อนในวันที่ 29 มีนาคม 2567 แต่ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติตอบกลับมาวันที่ 17 เมษายน 2567 ไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา

ปลายเดือนสิงหาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง รัฐสภาได้เห็นชอบให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ว่ารัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมว.ประจำสำนักนายกฯ และ รองหัวหน้าพรรค ให้สัมภาษณ์เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2567 ยืนยันเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจจะไม่ทันในช่วงเวลารัฐบาลนี้ แต่จะเสนอแก้รายมาตรา ให้ตั้ง สสร. ให้ได้ก่อน ลดการทำประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง

จากนั้นในวันที่ 8 มกราคม 2568 พรรคเพื่อไทย เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 อีกครั้ง โดยประธานรัฐสภาบรรจุไว้ในระเบียบวาระประชุมรัฐสภาวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานี้ ก็เพื่อเป็นการเปิดทางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตั้ง สสร. เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้ได้สำเร็จต่อในอนาคต

[เส้นทาง ‘เพื่อไทย’ เพื่อกติกาประชาธิปไตย]

แก้ ม.256 เปิดทางตั้ง สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ปี 2563

17 ส.ค. ยื่นญัตติแก้ไข ม.256 เพื่อจัดตั้ง สสร. จัดทำร่าง รธน.ใหม่ ยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 และ 2

18 พ.ย. ร่างผ่านวาระแรกที่ประชุมร่วม สส.และ สว.

ปี 2564

9 ก.พ. รัฐสภาเห็นชอบญัตติด่วน ส่งเรื่องให้ศาล รธน.ตีความว่า รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำร่าง รธน. ใหม่หรือไม่

11 มี.ค. ศาล รธน. มีคำวินิจฉัย 4/2564 ว่าสภามีอำนาจแต่ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนการจัดทำร่าง และต้องทำอีกครั้งเมื่อร่างเสร็จ

17 มี.ค. ร่างแก้ไขมาตรา 256 ถูกปัดตกในวาระ 3

16 มิ.ย. เพื่อไทย ยื่นญัตติแก้ไข รธน. ด้วยหลักการและแนวทางเดิมอีกครั้ง

18 มิ.ย. ประธานสภาฯ ปัดตกญัตติแก้ไข

ปี 2567

16 ม.ค. พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม ม.256 เพื่อลดการทำประชามติให้เหลือเพียง 2 ครั้ง

9 ก.พ. ประธานรัฐสภา ไม่บรรจุร่างแก้ไข รธน. เข้าสู่วาระประชุม

29 มี.ค. ที่ประชุมรัฐสภามีมติส่งเรื่องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. รัฐสภาจะลงมติพิจารณาแก้ไขได้เลยหรือต้องทำประชามติก่อน

17 เม.ย. ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้องเรื่องที่ส่งไปจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. เนื่องจากมีคำวินิจฉัยในลักษณะเดียวกันแล้ว

25 พ.ย. ชูศักดิ์ ศิรินิล ยืนยันเพื่อไทย จะเสนอร่างแก้ไข รธน. ม.256 อีกครั้ง เปิดทางตั้ง สสร. และลดทำประชามติจาก 3 เหลือ 2 ครั้ง

ปี 2568

8 ม.ค. พรรคเพื่อไทย เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ต่อรัฐสภา

6 ก.พ. ประธานรัฐสภาบรรจุวาระประชุมรัฐสภา 13-14 ก.พ. แก้ไข รธน. ม.256 เปิดทางยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่“

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img