วันอังคาร, เมษายน 1, 2025
หน้าแรกNEWSเวิลด์แบงก์คาดเบิกจ่ายงบประมาณ-ท่องเที่ยวดันจีดีพีไทยโต 2.9%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เวิลด์แบงก์คาดเบิกจ่ายงบประมาณ-ท่องเที่ยวดันจีดีพีไทยโต 2.9%

เวิลด์แบงก์ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 68 โต 2.9% แรงขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงขึ้น -การท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนหนุน คาดนโยบายการเงินของไทยยังผ่อนคลายอย่างระมัดระวัง

รายงานข่าวจากธนาคารโลกแจ้งว่า เศรษฐกิจไทย Thailand Economic Monitor ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% ในปี 2568 จาก 2.6% ในปี 2567 โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมาจากการลงทุนที่ฟื้นตัว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงขึ้น และการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในแผน 

นอกจากนี้ การท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในกลางปี 2568 

ในขณะที่ประเทศไทย ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก นวัตกรรม ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีความยืดหยุ่น และพลวัตสูง จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นการเติบโตอย่างยั่งยืน

นางเมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย และเมียนมา กล่าวว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่นในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตในอนาคต จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการที่กล้าตัดสินใจ การลงทุนในระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาทักษะสำหรับอนาคต และการสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยจะช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวรับมือกับความท้าทายระดับโลก และเติบโตได้อย่างมั่นคงในอนาคต จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการโอนเงิน 10,000 บาทของรัฐบาลอัตราความยากจนลดลงเหลือ 8.2% ในปี 2567 จาก 8.5% ในปี 2566 

อย่างไรก็ดี แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีกว่าที่คาดไว้ แต่ GDP ของไทยยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพที่ควรเป็น โดยความท้าทายหลัก ได้แก่ การลดระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และการเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสังคมผู้สูงอายุ

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีโอกาสในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางการคลังผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน การขยายฐานภาษี และการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ส่งเสริมการเติบโตในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีใหม่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนในระยะยาว

เมื่อมองไปข้างหน้า รายงานระบุว่าธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมสามารถจะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต แต่SMEs และสตาร์ตอัป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของธุรกิจในประเทศไทย และเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ ยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยี และตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ การพัฒนาสตาร์ตอัปดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ยังเป็นอีกหนึ่งด้านที่ควรได้รับการปรับปรุง โดยจำเป็นต้องเสริมสร้างกรอบการกำกับดูแล โดยเฉพาะในด้านการแข่งขัน การค้า และการลงทุน รวมถึงการขยายการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้

ขณะเดียวกัน การศึกษา และการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัล และการเป็นผู้ประกอบการจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ แรงงานไทยในการขับเคลื่อนนวัตกรรม และขยายธุรกิจ นอกจากนี้ การเสริมสร้างบทบาทของไทยใน ห่วงโซ่มูลค่าโลก และการบูรณาการระดับภูมิภาคจะช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศใน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

นายคริสเตียน กิฮาดา ตอร์เรส ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านภาคเอกชนของธนาคารโลก กล่าวว่านวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปในเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเสริมสร้างศักยภาพให้ SMEs และสตาร์ตอัปด้วยเครื่องมือ แหล่งเงินทุน และทักษะที่เหมาะสมจะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของประเทศไทย เพื่อการเติบโต

ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารโลก ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จากคาดการณ์เดิมในเดือนต.ค. ที่ 3.0% ลงมาอยู่ที่ 2.9% โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับการขับเคลื่อนจากการลงทุนที่ฟื้นตัว บนแรงหนุนของการใช้จ่ายด้านงบประมาณที่สูงขึ้น และการดำเนินโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานท่อส่งน้ำมัน ในขณะที่การท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน เพียงแต่จะชะลอความสำคัญลงมา

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดภายในช่วงกลางปีนี้ ​​โดยจะมีนักท่องเที่ยว 41 ล้านคนในปี 2568 แซงหน้าสถิติเกือบ 40 ล้านคนในปี 2562 ได้ ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการแจกเงิน แต่วงจรการลดหนี้ และการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดยิ่งขึ้นของธนาคารพาณิชย์จะทำให้การบริโภคชะลอตัวลงต่อไป ในขณะที่การเติบโตของภาคการส่งออกจะชะลอตัวลง เนื่องจากความต้องการที่ลดลงจากประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งรวมถึงสหรัฐ และจีน

ธนาคารโลกระบุว่าความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ เนื่องจากประเทศไทยมีความเปิดกว้างต่อการค้า และการมีส่วนในห่วงโซ่มูลค่าโลก และคาดการณ์ว่า”ทิศทางนโยบายการเงินของไทยจะยังคงผ่อนคลายอย่างระมัดระวังในปีนี้

“แม้ว่าท่าทีการเงินที่ผ่อนคลายอย่างระมัดระวังจะเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่การบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนที่ตรงเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็ลดความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อให้เหลือน้อยที่สุด และรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้คงอยู่ ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญ”

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img