วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 22, 2025
หน้าแรกHighlight“พาณิชย์”หนุนธุรกิจบริการไทยยุคดิจิทัล ขานรับเทรนด์ฮิต“ท่องเที่ยวไป-ทำงานไป”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พาณิชย์”หนุนธุรกิจบริการไทยยุคดิจิทัล ขานรับเทรนด์ฮิต“ท่องเที่ยวไป-ทำงานไป”

“พูนพงษ์” คาด Digital Nomad ทั่วโลกมีประมาณ 40 ล้านคน คาดว่า จะเติบโตเป็น 60 ล้านคน ในปี 2573 แนะผู้ประกอบการไทยชู ‘Soft Power’ ควบคู่ส่งเสริมเทคโนโลยียกระดับเศรษฐกิจไทยผ่านชุมชนดิจิทัลระดับโลก-การท่องเที่ยว

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เทรนด์ ‘Digital Nomad’ หรือบุคคลที่ใช้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตทำงาน ผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้บนโลก เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์รองรับ ตลอดจนมีไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบการเดินทางและใช้ชีวิตในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก กำลังได้รับความนิยมและเติบโต ซึ่งประเทศไทยจะได้อานิสงส์ในการสร้างรายได้จากธุรกิจบริการหลากหลายสาขา

ในปี 2566 มีจำนวน Digital Nomad ทั่วโลกประมาณ 40 ล้านคน และคาดว่า จะเติบโตเป็น 60 ล้านคน ในปี 2573 ซึ่ง Digital Nomad ที่เดินทางมาประเทศไทยในปี 2567 คาดว่ามีจำนวนประมาณ 1.75 ล้านคน โดย Digital Nomad ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านไอที การตลาด หรือ E-Commerce และเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว จึงมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทย

โดยกลุ่ม Digital Nomad ยังมีลักษณะพิเศษกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปตรงที่มีระยะเวลาพำนักในไทยเฉลี่ยสูงกว่า 6 เดือน ส่งผลให้มีการใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวโดยทั่วไปที่ร้อยละ 56 อีกทั้งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีฤดูกาลท่องเที่ยวที่ชัดเจนแบบนักท่องเที่ยวทั่วไป3 กล่าวคือ สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า กลุ่ม Digital Nomad ในไทย มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 65,034 บาท ต่อคน แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อาทิ อาหาร การเดินทาง และกิจกรรม 33,310 บาท ต่อคน และค่าใช้จ่ายสำหรับที่พัก 31,724 บาท ต่อคน ทั้งนี้ กลุ่ม Digital Nomad นิยมเลือกใช้สถานที่ในการทำงานที่ยืดหยุ่น หรือใช้บริการพื้นที่ทำงานร่วมกันหรือ Co-working Space

ภาคบริการไทยที่จะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากกลุ่ม Digital Nomad จากรายงานของศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้แก่ (1) ธุรกิจที่พักแรม และร้านอาหาร โดยค่าใช้จ่ายด้านที่พักและอาหารมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 ของค่าใช้จ่ายโดยรวมของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันระยะยาว

ซึ่งครอบคลุมธุรกิจหลายด้าน เช่น ธุรกิจที่พักรายเดือน ร้านอาหาร คาเฟ่ และ Co-working Space (2) ธุรกิจบริการเช่ารถจักรยานยนต์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในวิธีการเดินทางหลักที่กลุ่ม Digital Nomad เลือกใช้ (3) ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างการรวมกลุ่ม เช่น การจัดกลุ่มทัวร์ทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ดำน้ำ มวยไทย ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่ม Digital Nomad ที่มักจะเดินทางตามลำพัง และต้องการเข้าสังคมกับ Digital Nomad คนอื่น และ (4) ธุรกิจโทรคมนาคม เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการทำงาน นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสถานบันเทิง และธุรกิจการแพทย์

โดยเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งเสริมธุรกิจบริการ เพื่อดึงดูดกลุ่ม Digital Nomad โดยมีจุดแข็งสำคัญหลายประการ อาทิ ภาคธุรกิจบริการที่มีความเข้มแข็ง: ไทยมีธุรกิจบริการที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เห็นได้จากมูลค่า GDP และจำนวนนิติบุคคลของธุรกิจบริการสาขาต่าง ๆ ในปี 2566 ที่เกี่ยวเนื่องกับการเข้ามาของกลุ่ม Digital Nomad อาทิ ธุรกิจการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมยานยนต์ มีมูลค่า GDP 2.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.69 ของ GDP

ภาคบริการ และมีจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 306,552 ราย ธุรกิจพักแรมและบริการด้านอาหาร มีมูลค่า GDP 9.45 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.65 ของ GDP ภาคบริการ และมีจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 41,233 ราย ธุรกิจข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร มีมูลค่า GDP 5.04 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.62 ของ GDP ภาคบริการ และมีจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 19,552 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่า GDP 4.59 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.20 ของ GDP ภาคบริการ และมีจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 71,214 ราย และธุรกิจการบริหารและกิจกรรมสนับสนุน มีมูลค่า GDP 2.31 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.12 ของ GDP ภาคบริการ และมีจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 53,484 ราย

ภาคการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่น: ในปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยรวม 35.54 ล้านคน ขยายตัวขึ้นร้อยละ 26.27 และสร้างรายได้ 1.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ Euromonitor International (บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลชั้นนำระดับโลก) จัดอันดับให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลกที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนมากที่สุดในปี 2567 และ Time Out (แพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ระดับโลก) ได้จัดอันดับให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลก จากการจัดอันดับ 50 เมืองที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2568 ซึ่งเป็นผลมาจากความประทับใจของนักท่องเที่ยวในความหลากหลายของย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ความเป็นมิตรของผู้คน และอาหารการกิน

โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่ง: รายงานภาพรวมการใช้อินเทอร์เน็ตในไทยปี 2567 โดย We Are Social และ Meltwater เผยว่าไทยมีอัตราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ร้อยละ 88 และไทยยังเป็นประเทศที่มีความเร็วอินเทอร์เน็ตแบบ Fixed Broadband (อินเทอร์เน็ตบ้านหรือไวไฟ) ดีที่สุดอันดับ 6 ของโลก

มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติและค่าครองชีพที่ได้เปรียบ: ปัจจุบันไทยมีการออกวีซ่าระยะยาวหรือวีซ่าดีทีวี (Destination Thailand Visa – DTV) ซึ่งออกแบบมาเพื่อต้อนรับชาวต่างชาติทักษะสูง ที่เป็น ผู้ประกอบการดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และกลุ่ม Digital Nomad ที่ต้องการใช้เวลาพำนักและทำงานทางไกลในประเทศไทย นอกจากนี้ ชาวต่างชาติกลุ่มศักยภาพสูงยังมองว่าระดับค่าครองชีพในไทยมีความเหมาะสมในการพำนักระยะยาว ตลอดจนมีความปลอดภัย ความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และมีบริการที่ดีและเป็นมิตรกับชาวต่างชาติ ทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกที่ได้รับความนิยม 10 อันดับแรกของกลุ่ม Digital Nomad โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร

ในประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของ Digital Nomad อาทิ เม็กซิโก มีการสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างด้านดิจิทัลของประเทศ โดยการผลักดันเมืองสำคัญคือเมือง Guadalajara ให้เป็น Digital Hub หรือศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล คล้ายกับ Silicon Valley ของสหรัฐอเมริกา เพื่อดึงดูดแรงงานศักยภาพสูงด้านดิจิทัลเข้าประเทศ

นอกจากนี้ เมืองยังให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการ โดยผู้ประกอบการร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อพัฒนาธุรกิจ Co-living และ Co-working Space ที่ปรับให้เหมาะกับผู้ทำงานระยะไกล ตลอดจนผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ทหลายแห่งมีแพ็กเกจสำหรับการเข้าพักระยะยาว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สำนักงานส่วนตัว และห้องประชุม เพื่อดึงดูดกลุ่ม Digital Nomad

ในขณะที่อินโดนีเซียและโปรตุเกส มีหมู่บ้านที่รองรับรับกลุ่ม Digital Nomad (Digital Nomad Village) โดยเฉพาะ โดยจุดเด่นของหมู่บ้านเหล่านี้ จะมีบริการ Co-working Space พร้อมบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อุปกรณ์ครบครัน และอาหารและเครื่องดื่ม ในสภาพแวดล้อมที่มีบรรยากาศผ่อนคลาย สวยงาม เช่น อยู่ในพื้นที่ใกล้ชายหาด ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถสัมผัสธรรมชาติระหว่างการทำงาน และสามารถทำกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ได้ เช่น การโต้คลื่น โยคะ ตลอดจนมีบริการทัวร์เชิงวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เรียนรู้วิถีชีวิตและประเพณีท้องถิ่น

กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงศักยภาพด้านการบริโภคและใช้จ่ายสินค้าและบริการไทยที่หลากหลายของกลุ่ม Digital Nomad จึงดำเนินการเพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาทักษะทางธุรกิจของผู้ประกอบการที่จะช่วย ตอบโจทย์การพำนักระยะยาวของกลุ่ม Digital Nomad อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สนับสนุนการจัดแสดงผลงานของผู้ประกอบการด้าน Soft Power และกิจกรรมส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาและภูมิปัญญาที่สะท้อนเอกลักษณ์และเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าไทยในสายตาชาวโลก

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพิ่มโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ และการตลาด โดยมีโครงการ DBD Academyซึ่งเป็นช่องทางการเรียนรู้ทางออนไลน์ (e-Learning) ที่มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ให้บริการกลุ่ม Digital Nomad เช่น หลักสูตรการตลาดยุคดิจิทัล หลักสูตรการบริหารจัดการธุรกิจโฮมสเตย์ หลักสูตรเส้นทางสู่ความสำเร็จธุรกิจร้านอาหาร และโครงการพัฒนาค้าปลีกชุมชนด้วยเทคโนโลยี โดยร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อช่วยผู้ประกอบการชุมชนในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจค้าปลีกชุมชน และอำนวยความสะดวกกลุ่ม Digital Nomad ในการจับจ่ายใช้สอยเมื่อเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้เห็นว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสนับสนุนธุรกิจบริการต่าง ๆ ของไทย เพื่อสอดรับกับการใช้บริการของกลุ่ม Digital Nomad อาทิ การอบรมส่งเสริมทักษะด้านภาษาและทักษะที่จำเป็นของผู้ประกอบการในการรองรับกลุ่ม Digital Nomad การอบรมผู้ประกอบการในการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต อย่างครอบคลุม การพัฒนาแหล่งชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวให้พร้อมสำหรับการรองรับกลุ่ม Digital Nomad และการประชาสัมพันธ์ Soft Power ของไทยเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และเสน่ห์ของไทยที่จะทำให้ชาวต่างชาติ กลุ่ม Digital Nomad ประทับใจ และเพิ่มความต้องการและระยะเวลาในการพำนักและใช้จ่ายในไทยให้ยาวนานขึ้น

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img