“หมอสุรัตน์” ชี้กินน้ำตาลเทียมเสี่ยงต่อเป็นโรคหัวใจเพิ่ม 9 เปอร์เซ็นต์ แนะควรกินน้ำตาลเทียมให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะยังไม่แน่ใจว่าปลอดภัยจริง ๆ หรือไม่
เมื่อวันที่ 21 ก.ย.68 ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เวชปฏิบัติทางประสาทวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านสมองและความผิดปกติทางประสาทวิทยา ได้โพสต์ข้อความลงในเพจ สาระสมองกับอจ.สุรัตน์ โดยระบุว่า
กินน้ำตาลเทียม Aspatame เสี่ยงโรคหัวใจ เพิ่ม 9% –
บางคน อยากได้รสหวาน แต่อยากดีต่อสุขภาพคิดว่าน้ำตาลเทียมช่วยได้ เปล่าเลย
น้ำตาลเทียมคือสารที่คนใช้แทนน้ำตาลจริง ๆ เพราะมันให้รสหวานแต่ไม่มีน้ำตาลและแคลอรีสูงเหมือนน้ำตาลปกติ คิดว่าดี แต่ไม่เป็นแบบนั้นครับ มันทำให้เข้าใจผิด
งานวิจัยจาก สถาบัน Karolinska ในสวีเดน (ปี 2025) ทดลองกับหนูและพบว่า:
เมื่อหนูกินน้ำตาลเทียมที่ชื่อว่า แอสปาร์แตม (Aspartame) ร่างกายมัน ผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น อินซูลินคือฮอร์โมนที่ช่วยร่างกายจัดการน้ำตาลในเลือด
แต่ถ้ามีอินซูลินมากเกินไปบ่อย ๆ หลอดเลือดจะเกิดการอักเสบ! การอักเสบคือเหมือนเวลาที่เรามีแผลแล้วมันบวมแดงนั่นแหละ แต่ในนี้เกิดขึ้นข้างในหลอดเลือด
🩺 เมื่อหลอดเลือดอักเสบ ไขมันจะไปเกาะตามผนังหลอดเลือด เหมือนท่อที่มีเศษขยะไปติด พอมีไขมันเกาะเยอะ ๆ อาจทำให้ เลือดไหลไม่สะดวก เสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือเส้นเลือดในสมองตีบ
🔎 หมายเหตุ: งานวิจัยนี้ทำกับหนูนะ ยังต้องศึกษากับคนเพิ่ม แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนที่น่าสนใจ!
แล้วน้ำตาลเทียมทำให้คนป่วยจริงไหม?
💉 งานวิจัยกับคนบางงานก็พบว่า:
• น้ำตาลเทียม ทำให้ร่างกายสับสน เพราะมันหวานแต่ไม่มีน้ำตาล ร่างกายเลย หลั่งอินซูลินเกินความจำเป็น
• มีงานวิจัยหนึ่งในปี 2019 พบว่า น้ำตาลเทียมเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งอาจทำให้บางคน ดื้อต่ออินซูลิน (หมายถึงอินซูลินทำงานไม่ดีเหมือนเดิม)
น้ำตาลเทียมกับโรคหัวใจ – ต้องระวัง!
❤งานวิจัยในปี 2022 ศึกษาคนกว่า 100,000 คน พบว่า:
• คนที่กินน้ำตาลเทียมเยอะ ๆ เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและเส้นเลือดสมองเพิ่มขึ้น 9%
• แต่ไม่ได้แปลว่ากินครั้งเดียวแล้วจะป่วยนะ! มันขึ้นอยู่กับว่ากินบ่อยแค่ไหน และร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน
องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังบอกว่า ควรกินน้ำตาลเทียมให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะยังไม่แน่ใจว่าปลอดภัยจริง ๆ หรือเปล่า
– อจ สุรัตน์