IMF แนะ ‘แบงก์ชาติ’ ลดดอกเบี้ย ปลุกเศรษฐกิจ ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าตามหลังเพื่อนบ้าน เสี่ยงติดหล่มระยะยาว เเนะรัฐบาลเน้นสร้างพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ลดการขาดดุล และควบคุมหนี้สาธารณะ
คณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เปิดเผยผลการประชุมหารือกับประเทศไทยประจำปี 2567 โดย IMF ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในอัตราที่ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน และคาดว่า จีดีพี.ที่แท้จริงของไทยในปีนี้ (68) จะเติบโตได้ 2.9% (เป้าหมายรัฐ 3 – 3.5%) จากการใช้นโยบายการคลัง ซึ่งรวมถึงมาตรการแจกเงินหมื่นเพิ่มเติม อีก 0.1% ของจีดีพี และการฟื้นตัวของการลงทุนภาครัฐ ส่วนภาคที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว จะยังคงสนับสนุนการเติบโต รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการแจกเงินของรัฐ
IMF ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทย เป็นความเสี่ยงขาลง จากปัจจัยภายนอก ทั้งความตึงเครียดด้านการค้าโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น หรือการแตกแยกทางภูมิเศรษฐกิจในระดับที่ลึกขึ้น อาจขัดขวางการฟื้นตัวของการส่งออกของไทย รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยว และการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดลง
ส่วนปัจจัยในประเทศนั้น ความเสี่ยงจากหนี้ภาคเอกชนที่พุ่งสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ อาจขัดขวางการดำเนินนโยบายและบั่นทอนความเชื่อมั่น
โดย IMF แนะนำให้รัฐบาลไทย เร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและศักยภาพในการแข่งขัน โดยเน้นที่การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี และยังเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงนโยบายการคลัง โดยมุ่งเน้นที่การสร้างพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ลดการขาดดุล และควบคุมหนี้สาธารณะ
IMF ยังแนะนำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนเงินเฟ้อ รวมถึงช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ดีขึ้น โดยมีความเสี่ยงต่อการก่อหนี้เพิ่มเติมอย่างจำกัด ท่ามกลางภาวะสินเชื่อตึงตัว