วันพฤหัสบดี, เมษายน 3, 2025
spot_img
หน้าแรกNEWSแบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ9แห่งขานรับกนง. แจ้งลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง0.10-0.25%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ9แห่งขานรับกนง. แจ้งลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง0.10-0.25%

แบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ 9 แห่ง ขานรับกนง. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.10-0.25% เพื่อช่วยเหลือรายย่อย-ลดต้นทุนธุรกิจ พร้อมตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินจึงประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และ MOR ลง 0.25% ต่อปี ตามมติ กนง. เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำสำหรับลูกค้าสินเชื่อรายใหญ่ (MLR) ลดเหลือ 6.65% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำสำหรับลูกค้าใช้วงเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดเหลือ 6.495% ต่อปี 

โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. – 31 ส.ค. 68 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำสำหรับลูกค้ารายย่อย (MRR) ยังคงอัตราเดิมที่ 6.595% ต่อปี เนื่องจากที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ปรับลดดอกเบี้ยมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ปัจจุบันเป็นอัตราดอกเบี้ย MRR ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 6 แห่ง ที่เฉลี่ยเท่ากับ 7.25% ต่อปี ทั้งนี้ ธนาคารจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อเป็นการส่งเสริมการออมตามภารกิจธนาคารเพื่อสังคม  

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ดีขึ้น ผ่านการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี ได้แก่ 

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลดลง 0.10% ต่อปี จากปัจจุบัน 6.250% ต่อปี เป็น 6.150% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลดลง 0.25% ต่อปี จากปัจจุบัน 6.40% ต่อปี เป็น 6.150% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. – 31 ส.ค. 68 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง 

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ยังคงอัตราดอกเบี้ยเดิมไว้ที่ 6.545% ต่อปี เนื่องจากที่ผ่านมา ธอส. ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ของ ธอส. อยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐอื่น อย่างไรก็ตาม ธอส. พร้อมตรึงดอกเบี้ยเงินฝากไว้ในอัตราเดิมให้ได้นานที่สุด เพื่อให้ผู้ออมได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยมากที่สุด

 นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% ต่อปี ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลดลง 0.15% ต่อปี จาก 6.875% ต่อปี มาอยู่ที่ 6.725% ต่อปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าประเภทเงินเกินบัญชี (MOR) ลดลง 0.25% ต่อปี จาก 6.875% ต่อปี มาอยู่ที่ 6.625% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2568 เป็นต้นไป

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า EXIM BANK ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ลง 0.10% ต่อปี เหลือ 6.25% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ EXIM BANK ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์ นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2568 เป็นต้นไป

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มเติบโตไม่สูงนักจากปัจจัยท้าทายภายนอกและความเปราะบางภายในประเทศ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนทางการเงิน สนับสนุนการใช้จ่ายและการลงทุนให้เกิดสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยจะช่วยบรรเทาความตึงตัวของภาวะการเงินในปัจจุบัน และช่วยให้ภาคธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันและข้อจำกัดด้านสภาพคล่องของธุรกิจ รวมถึงลูกค้ารายย่อยที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และต้องรับภาระหนี้สูง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR : Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.325% มาอยู่ที่ 7.075%ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR : Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.175% มาอยู่ที่ 7.075% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR : Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.925% มาอยู่ที่ 6.825%ต่อปี มีผล 3 มี.ค.68

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อ ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก และปัญหาเชิงโครงสร้าง จากเศรษฐกิจนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงช่วยเหลือลูกค้าลดภาระทางการเงิน ในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ธนาคารกรุงไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% สอดคล้องกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน ช่วยลดความตึงตัวของภาวะการเงินโดยไม่กระทบต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว และสามารถรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าได้อย่างเหมาะสม

  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลดลงจากปัจจุบัน 7.270% ต่อปี มาอยู่ที่ 7.020 % ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยเงินลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลดลงจากปัจจุบัน 6.925% ต่อปี มาอยู่ที่ 6.825 % ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลดลงจากปัจจุบัน 7.445% ต่อปี มาอยู่ที่ 7.345 % ต่อปีมีผล 3 มี.ค.ที่ผ่านมา

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า จากการที่เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวไม่สูงนัก อันเนื่องมาจากปัจจัยท้าทายทางด้านเศรษฐกิจจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ทางการค้า รวมถึงการตีตลาดของสินค้าจากต่างประเทศ อีกทั้งลูกค้ารายย่อยยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ทีทีบีมีความห่วงใยลูกค้าทุกกลุ่ม จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี สอดคล้องกับมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.25% เหลือ 2.00% ต่อปี เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินของลูกค้าและเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย MOR ลดลง 0.25% ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ย MLR และอัตราดอกเบี้ย MRR ลดลง 0.10% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.68 เป็นต้นไป

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อปรับลดลงสูงสุด 0.25% โดยอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) ปรับเป็น 6.825% ต่อปี เอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) เป็น 7.10% ต่อปี และเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) เป็น 6.95% ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.68

ซึ่งการปรับลดในครั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การบริโภค รวมถึงการรับมือและป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และลดภาระหนี้ของภาคธุรกิจและประชาชน ที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคาร ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.นี้ โดนมีรายละเอียดดังนี้

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate หรือ MLR) ปรับลดลงจาก 7.155% เป็น 7.055%
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate หรือ MOR) ปรับลดลงจาก 7.325% เป็น 7.075%
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate หรือ MRR) ปรับลดลงจาก 7.275% เป็น 7.175%

โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ธนาคารได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความห่วงใยและมุ่งมั่นช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img