วันจันทร์, มีนาคม 31, 2025
หน้าแรกHighlightเศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน-หนี้ครัวเรือนพุ่ง ฉุดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัว3.91%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน-หนี้ครัวเรือนพุ่ง ฉุดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัว3.91%

“ภาสกร” เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนก.พ. อยู่ที่ระดับ 96.18 หดตัว 3.91% หลังรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก การบริโภคเอกชนชะลอตัว-หนี้ครัวเรือนพุ่ง

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ระดับ 96.18 หดตัวร้อยละ 3.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59.01 โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้การบริโภคเอกชนยังคงชะลอตัว นอกจากนี้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการที่สินค้าประเทศจีนทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยบวกกับภาคเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะเดียวกันการค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่าส่งออกรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 17.2 และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 17.1 โดยสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ)เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

ส่วนระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทย เดือนมีนาคม 2568 “ส่งสัญญาณปกติเบื้องต้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะ 4-6 เดือนข้างหน้า” โดยปัจจัยภายในประเทศ อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังตามความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นทางธุรกิจมีระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ด้านปัจจัยต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ปกติเบื้องต้นตามการขยายตัวของความเชื่อมั่นทางธุรกิจและแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่วนการผลิตยูโรโซนอยู่ในภาวะเฝ้าระวังลดลงตามผลผลิตที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดัชนี MPI ที่ปรับลดลง สศอ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้เดินหน้าดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมายมาตรการสนับสนุนทั้งระยะสั้น กลาง ยาว รวมถึงโครงการเร่งด่วนให้เกิดผลเร็ว(Quick Win) ในอุตสาหกรรม 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา สศอ.ได้สนับสนุนการสร้างความพร้อมของระบบนิเวศข้อมูลสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือเชิงวิชาการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และสถาบันยานยนต์

เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย หวังกระตุ้นดัชนี MPI ให้กลับมาฟื้นตัวได้ รวมถึงตอบรับนโยบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่มุ่งเน้น “การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่“ ช่วยพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะเพิ่มแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้นต่อไป

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.70 จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และน้ำตาลทรายดิบ เป็นหลัก ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่มากกว่าปีก่อน เนื่องจากมีน้ำมากพอในพื้นที่เพาะปลูก และราคาอ้อย
จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น

ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.41 จากผลิตภัณฑ์ยางแท่ง ยางผสม และยางแผ่น เป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตหลายรายผลิตสินค้าที่ผ่านการรับรอง EUDR เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป

สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.75 จากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง เป็นหลัก เนื่องจากการเร่งผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าหลังราคาปลาทูน่าปรับตัวลดลง

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.71 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งไฮบริดขนาดต่ำกว่า 1,800 ซีซี รถยนต์นั่งขนาดเล็กและใหญ่ เป็นหลัก เนื่องจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนสูง และสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ สำหรับตลาดส่งออกหดตัวตามความต้องการของประเทศคู่ค้า และมีการแข่งขันด้านราคาในตลาดสูง

ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.88 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันก๊าด เป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตเพื่อซ่อมบำรุง

น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.58 จากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก ตามปริมาณผลปาล์มที่เข้าสู่โรงงานลดลงจากปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ผลปาล์ม ยังคงมีราคาสูง

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img