‘รองนายกฯ เศรษฐกิจ’ เผย ไทยเร่งสร้างสมดุลการค้า ลดการเกินดุลการค้า-ลดอุปสรรค-หั่นภาษีนำเข้า ต่อรองสหรัฐฯ รับ ถ้าไทยไม่เร่งทำอะไรเลย ส่งผลกระทบจีดีพีไทยลดลงอย่างน้อย 1% ชี้ เป็น World Crisis ทุกประเทศมีปัญหา อยากให้มองเป็นวิกฤติที่มีโอกาส ถ้าเราทำสำเร็จ แต่ไม่จบใน 1-2 เดือน ยันรู้ทิศทางแล้ว จากวันนี้ที่ฝุ่นตลบ
วันที่ 3 เม.ย.68 นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อหารือมาตรการรับมือ กรณีโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศในอัตรา 10% และภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับอีกหลายประเทศ รวมถึงคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งไทยถูกเก็บในอัตรา 37% โดยเปิดเผยว่า แนวทางเบื้องต้นคือ การทำตัวเป็นคู่ค้าที่ดี โดยต้องมีการปรับสมดุลการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ผ่านการนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อนำเข้ามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าภายในประเทศประเทศไทย แล้วส่งออกไป ซึ่งจะทำให้ช่องว่างของตัวเลขการเกินดุลทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศลดลง
นายพิชัยกล่าวว่า ปัจจุบันไทยได้เปรียบดุลการค้าจากสหรัฐฯ ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.3-1.4 ล้านล้านบาท ขณะที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ราว 6 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์ สะท้อนว่าไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ ถึง 70% จากการส่งออก ดังนั้น ต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส คือ ไทยต้องนำเข้ามากขึ้น สำหรับสินค้า 2 ส่วนที่มีผลกับดุลการค้า ได้แก่ ภาคเกษตร และภาคอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ข้าวโพด ซึ่งก็ต้องไปดูว่าจะต้องปรับแก้เกณฑ์ตรงไหนเพื่อให้สามารถนำเข้าได้มากขึ้น โดยเมื่อนำเข้ามาแล้วก็ต้องสนับสนุนไปสู่การแปรรูปเพื่อส่งออกต่อไป อีกส่วนคือ ปลาทูน่า ที่ไทยเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ โดยต้องไปดูแลผู้ประกอบการในประเทศ และทำให้มีการนำเข้ามากขึ้น
ในส่วนนี้ไทยมีสินค้าเกษตรอยู่ 4-5 รายการที่อยากจะทำ ก็ใช้ช่องตรงนี้นำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น แทนการนำเข้าจากประเทศอื่น เพื่อทำให้การได้เปรียบดุลการค้าของไทยลดลง
สำหรับภาคอิเล็กทรอนิกส์นั้น ต้องไปดูเรื่องการออกใบรับรองต้นตอสินค้าที่ผลิตในไทยให้เข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีสินค้าที่แจ้งว่ามีต้นกำเนิดในไทย แต่ไม่ได้ผลิตในไทยเต็มที่ จนทำให้เราดูเหมือนผู้ร้าย ก็ต้องมาดูในส่วนนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและมีความเข้มงวดมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ต้องเข้าไปดูการจัดการมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff) ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าบางอย่างที่ไทยไม่สามารถส่งออก หรือไม่สามารถนำเข้าได้ แต่มีการตั้งภาษีไว้สูงถึง 40-80% เช่น รถจักรยานยนต์บางประเภท ซึ่งสหรัฐฯ เองมีการผลิตรถฮาเลย์ ประเด็นนี้ทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถขายรถฮาเลย์ได้ เพราะไทยตั้งอัตราภาษีสูง ทำให้ไทยดูเหมือนเป็นผู้ร้าย ดังนั้นหากเอาตรงนี้ออกไปได้ ก็จะเป็นเรื่องดี
เบื้องต้นประเมินว่าหากไทยไม่เร่งดำเนินการอะไรเลย ปัญหานี้จะส่งผลกระทบทำให้ตัวเลขจีดีพีของไทยลดลงอย่างน้อย 1% อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นผลกระทบไปทั้งโลก ดังนั้นหากเราสามารถกระตุกให้ 1% นี้ไม่หายไป หรือหายไปน้อยที่สุด ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นแนวทางที่จะแก้ปัญหาได้อย่างมีนัยสำคัญคือ ต้องเร่งสร้างความสมดุลกับคู่ค้า จัดสัดส่วนและบาลานซ์การส่งออกและนำเข้าให้สมดุลไปสู่จุดที่แต่ละฝ่ายยอมรับได้ ทุกฝ่าย win win โดยระบุว่า หากลดความได้เปรียบดุลการค้าของไทยลงได้สักหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็คงจะดี
ตรงนี้ถือเป็น World Crisis เกิดจากความไม่สมดุลของโลกใบนี้ ระหว่างผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ทุกประเทศมีปัญหา อยากใช้เรื่องนี้ในการจัดทัพใหม่ ไม่อยากมองว่าเป็นแค่ปัญหา แต่อยากให้มองว่าเป็นวิกฤติที่มีโอกาส ถ้าเราทำสำเร็จ แต่คงไม่จบภายใน 1-2 เดือน ต้องค่อย ๆ ทำกันไป แค่เรารู้ว่าตอนนี้เรามีการเตรียมความพร้อม เรารู้ทิศทางแล้ว จากวันนี้ที่กำลังฝุ่นตลบอยู่