วันอาทิตย์, เมษายน 6, 2025
หน้าแรกHighlight“พาณิชย์”จ่อถอนทะเบียนร้างรายบริษัท ป้องกัน“มิจฉาชีพ”หลอกลวงประชาชน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พาณิชย์”จ่อถอนทะเบียนร้างรายบริษัท ป้องกัน“มิจฉาชีพ”หลอกลวงประชาชน

“อรมน”เผย เตรียมสำรวจนิติบุคคลที่เข้าข่ายจะถอนทะเบียนร้างปี 2568 เพื่อปรับฐานข้อมูลนิติบุคคลให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ป้องกันประชาชนได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงสภาพอันแท้จริงของนิติบุคคล

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมสำรวจนิติบุคคลที่เข้าข่ายจะถอนทะเบียนร้าง ประจำปี 2568 โดยการถอนทะเบียนนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท) ร้าง คือ การที่นายทะเบียนขีดชื่อนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท) ออกจากทะเบียน เนื่องจากไม่ได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานใดๆ โดยไม่ได้ยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือบางรายจดทะเบียนเลิกแล้ว แต่ไม่ยื่นรายงานการชำระบัญชีต่อนายทะเบียน หรือไม่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้น ทำให้ฐานข้อมูลนิติบุคคลไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และทำให้เกิดความเสียหายจากการหลอกลวงสภาพอันแท้จริงของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

ดังนั้นกฎหมายจึงให้อำนาจนายทะเบียนถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ทิ้งร้าง หรือเลิกประกอบกิจการและไม่ดำเนินกิจการแล้วให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยการถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทร้างต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/1 มาตรา 1273/2 และมาตรา 1273/3 และระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ.2561 ข้อ 106 ข้อ 107 ข้อ 108 ประกอบข้อ 104 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่

โดยการถอนทะเบียนร้างใช้ดำเนินการกับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด แต่ไม่มีผลบังคับใช้กับบริษัทมหาชนจำกัด สมาคมการค้าและหอการค้า บุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนพาณิชย์ ทั้งนี้ การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทร้างตามกฎหมายที่กล่าวถึงข้างต้นสามารถดำเนินการได้ 2 กรณี คือ

1. กรณีมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ไม่ได้ประกอบการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว โดยไม่นำส่งงบการเงินนับแต่ปีปัจจุบันย้อนหลัง 3 ปีติดต่อกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะส่งหนังสือฉบับที่ 1 ไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ที่เข้าข่ายจะถอนทะเบียนร้าง เพื่อสอบถามการประกอบการงาน โดยให้ชี้แจงภายใน 30 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนด

นายทะเบียนจะออกประกาศว่าจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน โดยลงประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่หนึ่งครั้ง และส่งหนังสือฉบับที่ 2 แจ้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นว่า กรมฯ จะขีดชื่อออกจากทะเบียนแล้ว และเมื่อพ้นเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าว นายทะเบียนก็จะออกคำสั่งขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/1 และมาตรา 1273/3

2. กรณีมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเลิกกันแล้วแต่ไม่มีตัวผู้ชำระบัญชีทำการอยู่ ไม่จัดทำรายงานการชำระบัญชีติดต่อกัน 3 ปี ไม่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีภายใน 3 ปีนับแต่วันที่รับจดทะเบียนเลิก กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะส่งหนังสือฉบับที่ 1 ไปยังห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าข่ายจะถอนทะเบียนร้าง เพื่อให้ดำเนินการมีตัวผู้ชำระบัญชี หรือยื่นรายงานการชำระบัญชี หรือจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี แล้วแต่กรณี

โดยให้ดำเนินการดังกล่าวภายใน 180 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนด นายทะเบียนจะออกประกาศว่าจะขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน โดยลงประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่หนึ่งครั้ง และส่งหนังสือฉบับที่ 2 แจ้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นว่า กรมฯจะขีดชื่อออก จากทะเบียนแล้ว และเมื่อพ้นเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ส่งหนังสือบอกกล่าว นายทะเบียนก็จะออกคำสั่งขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/2 และมาตรา 1273/3

ทั้งนี้เห็นว่าเมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียนแล้ว ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะสิ้นสภาพนิติบุคคลทันที แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการและผู้ถือหุ้น ยังมีอยู่เหมือนเดิม และเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังไม่ได้สิ้นสภาพนิติบุคคล แต่หากต้องการให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทร้างนั้นกลับคืนสู่ทะเบียน ผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ที่ได้รับความเสียหายโดยไม่เป็นธรรมจากการที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้จดชื่อ ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนได้ ภายใน 10 ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน และเมื่อศาลมีคำสั่งแล้วให้นำคำสั่งศาลมายื่นต่อนายทะเบียนเพื่อมีคำสั่งจดชื่อคืนสู่ทะเบียน โดยให้กลับคืนมาในฐานะอันใกล้ที่สุด กับฐานะเดิมเสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นไม่ได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลย

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนนิติบุคคลที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนและมีสถานะร้างแล้วรวมทั้งสิ้นจำนวน 89,856 ราย โดยแบ่งเป็นปี 2565 จำนวน 27,915 ราย ปี 2566 จำนวน 29,006 ราย และปี 2567 จำนวน 32,935 ราย ทำให้ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ยังดำเนินการอยู่รวมทั้งสิ้น 928,292 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img