‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ฉะ รัฐบาลรับมือทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีช้า! บอก นายกฯ-ทีมเจรจา ต้องรู้ของในมือ เชื่อไทยมีอำนาจต่อรองสหรัฐฯ ให้ไทยได้คุ้มเสีย เตือนส่ง ‘ทักษิณ’ ม้าเร็วเจรจา ‘แพทองธาร’ ยิ่งขาดความน่าเชื่อถือ
วันที่ 6 เม.ย.68 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ถึงท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ว่า เป็นการดำเนินการของรัฐบาลที่ช้า เพราะเพิ่งจะมีการออกมาชี้แจงให้ชัดเจนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ หลังจากที่มีการประกาศมาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ก่อนหน้านี้นักวิชาการหลายคน ได้ออกมาคาดการณ์แล้วว่า ประเทศไทยเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกมาตรการทางภาษี และเห็นการขยับท่าทีของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่แสดงบทบาทประธานอาเซียน 2568 เพื่อใช้กรอบการเจรจาในภูมิภาคอาเซียนในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับกลุ่มอาเซียน แต่ไทยก็ยังไม่เห็นบทบาท ทั้งที่เป็นประเทศสำคัญในอาเซียน
ส่วนทีมเจรจาที่จะเป็นผู้เดินทางไปเจรจากับสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ปรากฏชื่อ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือรวมไปถึงกรณีที่ปรากฏชื่อนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นทีมไปเจรจากับสหรัฐอเมริกานั้น นายณัฐพงษ์กล่าวว่า แม้ว่าตัวบุคคลที่จะไปเจรจา จะมีความสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการสร้างอำนาจต่อรองให้ประเทศไทย ก่อนที่จะมีการเจรจา ควรจะต้องรู้ตัวเองก่อนว่า มีอำนาจต่อรองใดบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรี อาจจะยังไม่ได้ออกมาชี้แจงความชัดเจนให้กับสังคม ว่า ประเทศไทยมีอำนาจต่อรองใดบ้าง มีเพียงความเป็นมิตรภาพระหว่างไทย และสหรัฐฯ แต่ตนก็เห็นว่า สหรัฐฯ รับรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่ก็ยังเลือกดำเนินนโยบายนี้ ฉะนั้น ก่อนที่จะมีการเจรจา จึงควรรู้อำนาจต่อรองของตนเองก่อน
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสนอให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นม้าเร็วในการเจรจากับสหรัฐอเมริกา โดยเห็นว่า ควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือคณะทำงานที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีโดยตรง เพราะตนอยากให้มีนายกรัฐมนตรีตัวจริง ที่ทำหน้าที่ไปเจรจา และไม่อยากให้นายทักษิณ ซึ่งเป็นบิดาของนายกรัฐมนตรีไปเจรจาแทน และหากนายทักษิณ เป็นม้าเร็วเจรจาเองจริง ก็จะยิ่งเกิดผลกระทบต่อนายกรัฐมนตรี ที่จะขาดความน่าเชื่อถือมากขึ้น
ส่วนตามแถลงการณ์ที่มีการระบุแนวทางการเจรจา เพื่อขอผ่อนปรนอัตราภาษีจากสหรัฐอเมริกา ทั้งเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และลดเงื่อนไขการนำเข้าต่าง ๆ จะกลายเป็นทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบเพิ่มมากหรือไม่นั้น ผู้นำฝ่ายค้านฯ ระบุว่า ตามที่สหรัฐฯ ออกมาตรการออกมา เพื่อไม่ให้สหรัฐอเมริกาเสียเปรียบ หากมองในมุมดุลการค้า และตนก็มองว่า มีความเป็นไปได้ในการไปเจรจาการค้า เพื่อให้เกิดดุลการค้า โดยที่ประเทศไทยไม่เสียประโยชน์
ดังนั้น ประเทศไทย จึงต้องมีของในมือ หรืออำนาจต่อรองที่สหรัฐอเมริกาอยากได้ และประเทศไทยจะได้ประโยชน์ที่คุ้มเสีย ซึ่งเชื่อว่า ประชาชน และภาคเอกชนของไทยก็อยากได้ความชัดเจนจากรัฐบาลเช่นเดียวกันว่า ธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมใด จะได้รับผลกระทบบ้าง