ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” ในรอบ 3 เดือน หลังดอลลาร์แข็งค่า-บอนด์ยีลด์ดีดปรับตัวขึ้น หลังตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเดือนมี.ค.แตะ 2.28 แสนรายดีกว่าที่ตลาดคาด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” ในรอบ 3 เดือนจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์ (ณ วันศุกร์ที่ 4 เมษายน) โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน (แกว่งตัวในกรอบ 34.12-34.78 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการรีบาวด์สูงขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนมีนาคม ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น 2.28 แสนราย ดีกว่าที่ตลาดคาด
ขณะเดียวกัน ถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาก็สะท้อนว่า เฟดยังมีความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากแนวโน้มนโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้เฟดยังไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เพิ่มแรงกดดันต่อเงินบาท นอกจากนี้ ในช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของตลาดการเงินไทย เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนไปตามกระแสข่าวนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วทดสอบโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ หลังมีรายงานข่าวว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจเลื่อนเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เป็นเวลา 90 วัน (ยกเว้นประเทศจีน) ทว่าเงินบาทก็กลับมาอ่อนค่าอย่างรวดเร็วอีกครั้ง สู่ระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ หลังทางการสหรัฐฯ ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว ทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของ
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลง ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว อีกทั้ง ราคาทองคำก็ปรับตัวลดลง เข้าสู่ช่วงการพักฐาน
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ พร้อมจับตา แนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมีนาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนเมษายน ซึ่งอาจปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectations) ระยะสั้นและระยะยาว ในรายงานเดียวกันนั้น ก็อาจปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความกังวลผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และที่สำคัญ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้า (จะมีการประกาศชะลอขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ Reciprocal Tariffs หรือไม่?) หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เดินหน้านโยบายการค้าที่มีความรุนแรงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา
▪ ยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดคาดว่า ECB อาจลดดอกเบี้ย ได้อีกราว 3 ครั้ง ในปีนี้ และมองว่า BOE มีโอกาสราว 79% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ย เพิ่มเติมราว 3 ครั้ง ในปีนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ยอดผลการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของอังกฤษ ในเดือนกุมภาพันธ์
▪ เอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมีนาคม ในส่วนของนโยบายการเงิน บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ความกังวลผลกระทบจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 แนวโน้มการชะลอลงของทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตรเงินเฟ้อ อาจเปิดโอกาสให้บรรดาธนาคารกลางในเอเชียใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น โดย ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) อาจลดดอกเบี้ยนโยบาย 25bps สู่ระดับ 3.50%, 5.50% และ 6.00% ตามลำดับ
▪ ไทย – รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนมีนาคม สำหรับ แนวโน้มเงินบาท นั้น เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลง จนกว่า ตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ความผันผวนของเงินบาทอาจอยู่ในระดับที่สูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้า จากความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึง ความผันผวนของบรรดาสินทรัพย์ที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาทพอสมควร อย่าง ราคาทองคำ อนึ่ง เรายังคงมั่นใจ ว่า เงินบาทยังอยู่ในแนวโน้มการอ่อนค่า ตราบใดที่เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวเหนือโซน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอลงได้บ้าง โดยเงินบาทมีโซนแนวต้านแถว 34.75 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 35.00 บาทต่อดอลลาร์) ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่ในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 34.00 บาทต่อดอลลาร์)
สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เงินบาทยังคงเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลง บนความผันผวนที่สูงขึ้น จนกว่าตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ หรือราคาทองคำหยุดปรับตัวลดลงและทยอยรีบาวด์ขึ้น ขณะที่ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในระยะสั้นอาจยังคงเห็นแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง อย่าง หุ้นไทย ควบคู่การทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวของไทย
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้นมองว่า เงินดอลลาร์เสี่ยงผันผวนสูงในลักษณะ “Two-Way Volatility” ขึ้นกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงิน และมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ ต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่จะกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ได้
ทั้งนี้ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.20-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์