พาณิชย์จับมือ ปปง. เปิดรับฟังความคิดเห็นการยึดทรัพย์-บุคคลที่ช่วยเหลือสนับสนุน และร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวถึง 25 เม.ย.นี้ เพื่อป้องกันธุรกิจไทยไม่ให้ถูกครอบงำโดยชาวต่างชาติและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน หวังตัดวงจรอุบาทว์ขบวนการนอมินีที่ทำลายชาติ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การปราบปรามและการแก้ไขป้องกันธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว หรือนอมินีในประเทศไทย เป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อป้องปรามไม่ให้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยมีการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลัก พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือการทำงานร่วมกัน ตามแผนการดำเนินการของคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงาน ปปง. ได้ร่วมกันพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเพิ่มเติมให้คนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในธุรกิจที่อยู่ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือคนต่างด้าวที่ยอมให้คนไทยกระทำการแทนดังกล่าว ตามมาตรา 36 (ความผิดฐานนอมินี)
กรณีที่คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 37เป็นความผิดมูลฐาน ตามร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งจะนำไปสู่การยึด อายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างด้าว ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อไม่ให้นำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ หยุดยั้งการใช้บริษัทนอมินีและคนไทยเป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน สร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของระบบธุรกิจในประเทศไทย และป้องกันการใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการกระทำความผิด
ซึ่งขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นในเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (https://law.go.th) ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้จนถึงวันที่ 25 เมษายนนี้ เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องธุรกิจของคนไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ปปง. จะพิจารณาเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับถัดไป
โดยการปราบปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าวเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และสร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ รวมถึงเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการชาวไทย