วิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิสงสัย! ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย วิเคราะห์เหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม 30 ชั้น ราบเป็นขนมชั้นในเวลาอันรวดเร็ว ชี้เป็นการวิบัติที่ไม่ควรเกิดขึ้นในอาคารสูง
เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย ราชบัณฑิต และ วุฒิวิศวกร โพสต์คลิป“8 วินาทีวิกฤติ: กลไกการถล่มตึก 30 ชั้น จนราบเป็นขนมชั้น“
โดยระบุว่า
บทสันนิษฐานสุดท้าย – 8 วินาทีวิกฤติของตึก สตง.
13 เมษายน 2568
เหตุการณ์การพังทลายโดยสิ้นเชิงแบบแพนเค้ก (หรือขนมชั้น) ของอาคาร สตง. ได้ผ่านมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว ภารกิจเร่งด่วนเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและกู้ร่างผู้เสียชีวิตได้ดำเนินการไปแล้ว ประเด็นสำคัญต่อไปคือ การหาสาเหตุของการวิบัติของอาคาร ซึ่งทำสถิติโลกใหม่เป็นอาคารสูงที่สุดที่เกิดวิบัติแบบแพนเค้กโดยธรรมชาติ (ไม่นับกรณี WTC ที่เกิดจากการก่อการร้าย)
แม้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุโดยมีกำหนดเสร็จภายใน 7 วัน แต่ยังไม่มีผลการสอบสวนออกมา ผมเป็นกังวลว่าอาจเกิดความสับสนในประเด็นหลัก ทำให้หลงเสียเวลาไปสอบสวนในประเด็นย่อยที่ไม่มีผลต่อการถล่มของอาคาร
สิ่งที่สังคมต้องการทราบคือ อาคารถล่มลงมาเป็นแพนเค้กภายในเวลาเพียง 8 วินาทีได้อย่างไร ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้อยู่ในอาคารแทบไม่มีโอกาสรอด การวิบัติลักษณะนี้ถือเป็นสิ่งต้องห้ามที่สุดในหลักการออกแบบก่อสร้างอาคารสูง ส่วนประเด็นการวิบัติเฉพาะที่ (Local Failure) หรือประเด็นอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการถล่มแบบแพนเค้ก ถ้าต้องการควรจะแยกนำไปพิจารณา เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในสังคม
ในคลิปที่ผมใช้เวลาช่วงสงกรานต์ทำให้นี้ ผมได้อธิบายกลไกการถล่มของอาคาร สตง. อย่างละเอียดชนิดวินาทีต่อวินาที โดยการสนับสนุนจากคลิปวิดีโอสามมุมมองที่ซิงค์เวลาตรงกัน โดย Slow Motion 10%
สำหรับผู้สนใจที่เป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ ผมได้สนับสนุนข้อสันนิษฐานของผม ด้วยทฤษฎีการรับแรงบิดแบบ St. Venant Torsion และผลการทดลองจากบทความวิชาการด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ที่แสดงการลักษณะการวิบัติของแท่งคอนกรีตเสริมเหล็กเมื่อได้รับแรงบิดกลับไปกลับมา (Cyclic Torsion)
สุดท้าย ผมขอยืนยันว่า การสันนิษฐานกลไกการเกิดวิบัตินี้เป็นไปตามหลักนิติวิศวกรรม ที่ปราศจากอคติ โดยอาศัยหลักฐานและข้อมูล ตามหลักวิชาการเท่านั้น ส่วนสาเหตุใดที่องค์อาคารถึงรับมือกับแรงบิดไม่ได้ ผมพยายามจะไม่แตะต้อง เพราะถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะต้องสอบสวนเป็นทางการต่อไป
ผมขอให้ชมคลิปยูทูปให้จบ ท่านไม่ต้องเป็นวิศวกร ก็สามารถเข้าใจกลไกการพังราบเป็นขนมชั้นได้ครับ
ศ. กิตติคุณ ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต