“พิชัย” หารือผู้ว่าแบงก์ชาติถึงผลกระทบต่อนโยบายทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทย 36% เตรียมมาตรการรับมือ หวั่นสินค้าส่งออกสะดุดลามไปสู่ภาวะเศรษฐกิจ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐฯ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากนโยบายภาษี ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และในเรื่องของผลตอบแทนพันธบัตร (ยีลด์) ในการลงทุน ซึ่งก็อยากฟังจาก ธปท.ว่าแนวทางในการรับที่เตรียมไว้มีนโยบายอย่างไรบ้าง ส่วนที่จะต้องดูในระยะต่อไปก็คือผลกระทบที่เกิดกับผู้ประกอบการส่งออกซึ่งการปรับขึ้นภาษีนั้นกระทบกับคำสั่งซื้อสินค้าที่ชะลอตัวลง จนอาจจะกระทบกับสภาพคล่องของผู้ประกอบการได้ มาตรการต่างๆที่จะรองรับจึงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ไว้

“หลายประเทศ กำลังประเมินผลกระทบและวางแผนที่จะแก้ไขปัญหา ซึ่งไทยเราเองก็กำลังดูในเรื่องของผลกระทบไว้หลาย Scenario ว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร เพราะประเทศเราเป็นประเทศส่งออกซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงเกิดขึ้นระหว่างการส่งออกระหว่างไทยไปสหรัฐฯ แต่อาจจะยังเกิดปัญหากับการส่งออกที่เราส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ด้วย ซึ่งหากผลกระทบเกิดขึ้นในลักษณะนี้ก็จะเป็นผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างมาก”

ทั้งนี้ธปท.ได้ข้อสรุปที่จะทำงานร่วมกันให้ใกล้ชิดขึ้น เพื่อหามาตรการในการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องมีการเตรียมมาตรการต่างๆไว้ให้มีความพร้อม แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าจะใช้มาตรการอะไร เพราะว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป และผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ละภาคส่วนก็อาจต้องการมาตรการที่จะช่วยเหลือที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นต้องมาดูว่าจะกระทบในส่วนไหนบ้าง
ส่วนของสภาพคล่องของประเทศไทยนั้น มีเพียงพอ และยังไม่ได้หารือในเรื่องของดอกเบี้ย เพราะว่าหน้าที่ในการดูแลดอกเบี้ยนโยบายนั้นเป็นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่อยู่ในการดูแลของ ธปท.ซึ่งจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า คาดว่า กนง.จะมีการติดตามแนวโน้มนโยบายของประเทศต่าง ๆ ด้วยว่ามีทิศทางอย่างไร
สำหรับเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นคงต้องดูเรื่องขององค์ประกอบต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน เช่นเรื่องของเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ซึ่งแต่ละช่วงเวลามีเหตุการณ์และองค์ประกอบต่างๆ ที่มีความแตกต่างกันออกไป

สำหรับการเดินทางเยือนสหรัฐฯว่าตอนนี้คงต้องรอกำหนดวันที่แน่นอน โดยต้องมีการหารือกับภาคส่วนต่างๆให้มีความชัดเจน คงต้องรออีกสักพัก โดยในระหว่างนี้ก็จะมีการหารือกับหน่วยงานต่างๆภายในประเทศเพื่อลดและปรับแก้ไขในส่วนของอุปสรรคทางการค้ากับสหรัฐฯในส่วนที่ไม่ใช่ภาษี (non – tariff) ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่เราเตรียมไปเจรจาหารือกับสหรัฐฯว่าเรามีการแก้ไขอุปสรรคในการค้าในส่วนนี้แล้ว
ส่วนเรื่องของข้อเสนอของประธานคณะที่ปรึกษาอาเซียนที่จะมีการประชุมกันที่ไทยนั้น ในการหารือกับสหรัฐฯในครั้งแรกคงยังไม่ได้คุยกันในเรื่องของข้อเสนอจากประธานที่ปรึกษาอาเซียน เพราะในส่วนนั้นจะเป็นข้อเสนอในการรวมกลุ่มของอาเซียนในการเจรจาซึ่งปัญหาในประเทศนั้นไม่เหมือนกัน ขณะที่การหารือของทีมไทยแลนด์นั้นจะเป็นข้อเสนอจากประเทศไทยที่เราต้องไปคุยกับทางสหรัฐฯ