วันเสาร์, เมษายน 19, 2025
หน้าแรกHighlight‘บาทแข็งโป๊ก’ทุบนิวไฮใหม่รอบ 6 เดือน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘บาทแข็งโป๊ก’ทุบนิวไฮใหม่รอบ 6 เดือน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.12 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” ทำนิวไฮรอบ 6 เดือน ตลาดรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป คาดลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.25%

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.12 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” ทำนิวไฮรอบ 6 เดือน โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังหลุดโซนแนวรับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ตั้งแต่ช่วงวันก่อนหน้า (แกว่งตัวในกรอบ 33.07-33.27 บาทต่อดอลลาร์)

โดยการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (New All-Time High) ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความกังวลผลกระทบของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ที่ต่างระบุว่า นโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 นั้นอาจเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตเศรษฐกิจของสหรัฐฯได้ นอกเหนือจากหนุนให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ประธานเฟด Jerome Powell ได้ระบุว่า เฟดจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวังและรอบคอบ สะท้อนว่า เฟดยังไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ย หากไม่จำเป็น ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็ดูจะสวนทางกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 63% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ถึง 4 ครั้งในปีนี้ และนอกเหนือจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาผสมผสาน โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมีนาคม ปรับตัวขึ้น +1.4%m/m ดีกว่าคาดเล็กน้อย แต่ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนมีนาคม กลับหดตัว -0.3%m/m แย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่มั่นใจในภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) กดดันโดยการปรับตัวลงหนักของหุ้นธีม AI/Semiconductor อย่าง Nvidia -6.9% หลัง Nvidia ได้ระบุว่าบริษัทได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมการส่งออก Semiconductor ไปยังจีน นอกจากนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังคงถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ดิ่งลง -2.24%

ทางตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลง -0.19% กดดันโดยการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นธีม AI / Semiconductor โดยเฉพาะ ASML -5.2% ตอบรับรายงานผลประกอบการที่น่าผิดหวังและแรงกดดันจากการขายหุ้น Nvidia ในฝั่งสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้างจากความหวังธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนเมษายนนี้ ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานก็รีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ

ในส่วนตลาดบอนด์ บรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ กอปรกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3-4 ครั้งในปีนี้ ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯมีจังหวะย่อตัวลงทดสอบโซน 4.28% ทั้งนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดบอนด์อาจยังอยู่ในระดับสูงอยู่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ก่อนที่จะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว โดยเฉพาะหากบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯมีจังหวะปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 4.50% ซึ่งเป็นโซนที่ถือว่าบอนด์ระยะยาวมีความน่าสนใจ ในแง่ Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return)

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้นพบว่า เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาผสมผสาน อีกทั้งบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็ยังขาดความเชื่อมั่นในการถือครองสินทรัพย์สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ย่อตัวลงสู่โซน 99.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.2-99.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังขาดความเชื่อมั่นในการถือครองสินทรัพย์สหรัฐฯ ยังคงหนุนความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) สามารถปรับตัวขึ้น ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (New All-Time High) แถวโซน 3,350-3,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์และเรา ต่างคาดว่า ECB จะเดินหน้าลดดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) 25bps สู่ระดับ 2.25% เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธาน ECB ในช่วง Press Conference หลังรับรู้ผลการประชุม เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงาน ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่เอเชีย ช่วงราว 6.30 น. ของเช้าวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน พร้อมติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เงินบาทยังคงทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เหนือความคาดหมายของเรา โดยเรามองว่า ปัจจัยสำคัญที่หนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงนี้ คือโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่และการเร่งปรับลดสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ของผู้เล่นในตลาด ซึ่งส่วนหนึ่งก็ใช้ราคาทองคำ เป็นหนึ่งในปัจจัยประเมินแนวโน้มเงินบาท ทำให้เรายอมรับว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก หากราคาทองคำยังปรับตัวขึ้นต่อได้

อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นสัญญาณการกลับตัวของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดมีมุมมองเชิงลบ (Bearish) ต่อเงินดอลลาร์มากพอสมควร ทำให้เงินดอลลาร์มีโอกาสรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง ซึ่งต้องอาศัยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่สดใส เพื่อหนุนความเชื่อมั่นในการถือครองสินทรัพย์สหรัฐฯให้กลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯที่สูงอยู่นั้น จะเป็นปัจจัยกดดันและจำกัดการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทอย่างรวดเร็วในช่วงนี้

นอกจากนี้ ในช่วงตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง เรามองว่า สินทรัพย์เสี่ยงฝั่งเอเชีย อาจเผชิญแรงขายเพิ่มเติมได้ ทำให้การแข็งค่าขึ้นเงินบาท (ที่จะได้แรงหนุน หากราคาทองคำปรับตัวขึ้น) ถูกชะลอลงบ้าง หากนักลงทุนต่างชาติต่างทยอยขายหุ้นไทยออกมา และที่สำคัญ เรามองว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา ถือว่า “เร็ว แรง” จนเริ่มมีลักษณะ Parabolic Rise (โดยเฉพาะเมื่อดูจากกราฟ Log Scale) ทำให้ราคาทองคำเสี่ยงปรับตัวลงพอสมควร เข้าสู่ช่วงการพักฐาน หากขาดปัจจัยหนุนเพิ่มเติม ซึ่งจากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2000 เราพบว่า หลังการปรับตัวขึ้นเร็วและแรง แบบ Parabolic Rise นั้น ราคาทองคำเสี่ยงปรับตัวลงได้เฉลี่ย -12% ซึ่งหากความสัมพันธ์ระหว่างเงินบาทกับราคาทองคำยังไม่เปลี่ยนแปลง การปรับตัวลงดังกล่าวของราคาทองคำ ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก (หากราคาทองคำปรับตัวลดลง -10% อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้เกือบ 1 บาทต่อดอลลาร์)

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.25 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img